หน้า:ปก ให้ใช้วันอย่างใหม่ (๑๒๕๐).pdf/3

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๔๕๓
เล่ม ๕
ราชกิจจานุเบกษา

ก็คำนวนออกว่า เปนอธิกวารติดกัน ๒ ปี เหมือนเช่นปีชวด จัตวาศก จุลศักราช ๑๐๙๔ ที่มีปรากฎล่วงมาในปูม เปนการเถียงกันอยู่ดังนี้ ถ้าจะว่าตามตำรา รอบ ๑๙ ปีมีอธิกมาศ ๗ ปี เปนกำหนดว่า ในปีที่ ๓ ที่ ๖ ที่ ๙ ที่ ๑๑ ที่ ๑๔ ที่ ๑๗ กับที่ ๑๙ เปนอธิกมาศ ก็เหนมีพยานตามปูมที่มีอยู่ว่า ได้ใช้กันมาในสองร้อยปีที่ล่วงมาแล้วเท่านั้น การข้างต้นที่ล่วงมาก่อนนี้ก็ไม่มีหลักถานว่า ใช้ตามตำรานี้ กลับมีหลักถานเปนที่อ้างว่า จะใช้อย่างอื่น คือ ในตำราสุริยาตรนั้นเอง มีเกณฑ์เลขบอกไว้ในอัตตาเถลิงศก แต่ทางคำนวนนี้มีวิธีใช้เปน ๔ อย่างขึ้น คือ ปีปรกติ ๓๕๔ วัน ปีอธิกวาร ๓๕๕ วัน ปีอธิกมาศ ๓๘๔ วัน กับปีอธิกมาสาธิกวาร ๓๘๔ วัน เปนทางจันทรคติที่ใช้เปนสามัญ ฝ่ายปีสุริยคติก็มีเปนสองอย่าง คือ ปีปรกติสุร์ทิน ๓๖๕ วัน อย่างหนึ่ง กับปีอธิกะสุร์ทิน ๓๖๖ วัน อย่างหนึ่ง ในทางคำนวนนี้ ปีใดกัมมัจพลในอัตตาเถลิงศกปีนั้นต่ำกว่า ๒๐๗ แล้ว ปีนั้นเปนปีอธิกะสุร์ทิน ถ้ากัมมัจพลสูงกว่า ๒๐๗ แล้ว ปีนั้นเปนปีปรกติสุร์ทิน ถ้าปีใดเปนปีปรกติสุร์ทินอวมารต่ำกว่า ๑๓๗ ฤๅปีใดเปนปีอธิกสุร์ทินอวมารต่ำกว่า ๑๒๖ สองอย่างนี้ ปีนั้นเปนอธิกวาร ถ้าสูงกว่า ไม่มีอธิกวาร ถ้าปีใดเปนดิถีในอัตตาเถลิงศกบวกเกณฑ์เลขซึ่งว่าต่อนี้และไปถึง ๓๐ ฤๅเกินไปในปีใด ปีนั้นเปนอธิกมาศ ถ้าไม่ถึง ไม่เปนปีอธิกมาศ เกณฑ์เลขนั้น คือ ปีปรกติสุร์ทินกับเปนอธิกวารบวก ๑๐ ปีอธิกสุร์ทิน กับอธิกวารก็ดี ฤๅปีปรกติสุร์ทินกับปรกติวารก็ดีบวก ๑๑ แลปีอธิกสุร์ทินกับปรกติวารบวก ๑๒ ทางคำนวนนี้รู้จักทำอัตตาเถลิงศกได้แล้วดูเลข ๓ แห่ง คือ กัมมัจพล ๑ อวมาร ๑ กับดิถี ๑ แล้วก็รู้ได้ทันที ไม่ต้องคำนวนยืดยาวว่า ปีใดเปนอธิกมาศ อธิกวาร ฤๅปรกติ แลเห็นได้ว่า ถูกจริง เพราะดิถีกับวารในอัตตาเถลิงศพกับวันที่ใช้เปนสามัญนั้นไม่ยิ่งไม่หย่อนเคลื่อนคลาศกันอย่างเช่นกล่าวมาในวิธีอื่นนั้น แต่ทางคำนวนนี้ไม่มีใครสอนกัน เพราะเปนทางคิดสอบสวนได้ออกจากตำราสุริยาตรเอง มีพยานที่คิดเลขลงกันได้ตลอด แต่เปนของไม่ได้ใช้ในทุกวันนี้ ฝ่ายกำหนดอธิกวารที่ใช้อยู่ทุกวันนี้ ก็เปนตามทางคำนวนพิสุทธิมาศเท่านั้น โหรมีตำราสำหรับที่จะให้รู้อธิกวารเปนเกณฑ์เลขหลายอย่างต่าง ๆ กันมาก แต่สอบสวนเข้าก็ไม่ได้จริง โดยที่สุด วิธีรับวันเดือนที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้ ถ้าพ้นจาก(ต้นฉบับตรงนี้อ่านไม่ออก)มีอยู่อย่างสูงเพียง ๒๐๐ ปีเศษแล้ว ก็รู้แน่ไม่ได้ว่า ปีใดเปนอธิกมาศฤๅอธิกวารแล เพราะโหรต่างคนต่างจะทำให้ถูกได้ตามใจ วิธีนับวันเดือนปีที่ใช้ในทวีปประเทศเดียวกัน อย่างเช่นเมืองพม่า ก็เคลื่อนกันอยู่วันหนึ่ง เพราะว่าไม่ได้ใส่อธิกวารในปีใดปีหนึ่ง แลเมืองลาวเฉียงก็เคลื่อนกันอยู่ ๒ เดือน เพราะว่าไม่ได้ใส่อธิกมาสสักสองปี การที่เปนเหตุให้มีวิธียุ่งยากอย่างนี้ ก็เพราะอยากจะคิดใช้ตามจันทรคติแลสุริยคติ ด้วยจันทรคตินั้นมีมัธยมประมาณเดินรอบโลกย์ ตรงกับอาทิตย์รอบหนึ่ง ๒๙ วัน