หน้า:ปก ให้ใช้วันอย่างใหม่ (๑๒๕๐).pdf/4

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
เล่ม ๕
๔๕๔
ราชกิจจานุเบกษา

๑๒ โมง ๔๔ นาที ๓ วินาที ๑๒ รอบ จันทรโคจรเปน ๓๕๔ วัน ๘ โมง ๔๘ นาที ๓๖ วินาที ตัดเศษมงทิ้งสำหรับนับต่อไปข้างน่าปีปรกติ จึ่งนับว่า ปี ๓๕๔ วันเท่านั้น ๑๓ รอบจันทรโคจรเปน ๓๘๓ วัน ๒๑ โมง ๑๒ นาที ๓๙ วินาที แต่เศษโมงเกือบเต็มวันได้แล้ว แลเอาเศษโมงปีปรกติซึ่งทิ้งไว้นั้นมาผสมเข้าให้เต็มวันเปนปีอธิกมาศ ๓๘๔ วัน ส่วนเศษโมงที่ยังเหลืออยู่อีกนั้นหลายปี ครบเต็มวันเข้าเมื่อใด ก็เปนอธิกวารเติมวันขึ้นเมื่อนั้น ไนยหนึ่ง ซึ่งนับรอบ ๑๙ ปีว่า คติอาทิตย์แลจันทรตรงกันโดยเปน ๑๙ รอบอาทิตย์ ๒๓๕ รอบจันทรนั้น เมื่อคิดดูตามตำราสุริยาตรแลตำราอื่น ก็เห็นว่า ไม่ตรงกันแท้ ว่าแต่เพียงตามตำราสุริยาตร ๑๙ ปีนี้ สุริยคติคิดได้ ๖๙๓๙ วัน ๒๑ โมง ๕๙ นาที ๒๔ วินาที จันทรคติได้ ๖๙๓๙ วัน ๑๖ โมง (ต้นฉบับตรงนี้อ่านไม่ออก)๑ นาที ๔๕ วินาที ผิดเศษโมงกันอยู่ดังนี้ วิธีนับปีอย่างนี้ ที่รู้ใช้กันอยู่ได้ ก็เพียงแต่ชั่วปีหนึ่งปีหนึ่งซึ่งออกหมายประกาศไปเท่านั้น ครั้นล่วงปีไปแล้วก็ดี ฤๅปีข้างน่าต่อไปก็ดี ถ้าไม่มีปูมไม่มีจดหมายเหตุเปนที่สังเกตไว้แล้ว ก็ไม่มีผู้ใดจะบอกได้ว่า เปนกี่วันมาแล้ว เพราะเปนการยากยุ่งเหลือที่ผู้ใดจะทรงจะจำไว้ได้ แลเปนของที่รู้ได้ฉเพาะ

น้อยตัวคน ไม่เปนสาธารณทั่วไป เพราะเหตุฉนั้น วิธีนับปีนี้ก็ไม่สมกับเหตุอันควรโดยประการที่ ๓ ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น จึ่งได้ทรงพระราชดำริห์ถึงวิธีนับปีตามสุริยคติกาลซึ่งเดินอยู่รอบโลกย์นี้ มีกำหนดมัธยมประมาณรอบหนึ่ง ๓๖๕ วัน ๕ โมง ๔๘ นาที ๔๙ วินาทีนั้น มีทางนับอันหนึ่งซึ่งได้กันว่า ปรกติสุร์ทิน ๓๖๕ วัน แลปีอธิกสุร์ทิน ๓๖๖ วัน ปีปรกติ ๓ ปี มีปีอธิกะ ๑ ปี อย่างนี้ไปจนครบร้อยปีที่ ๑ ก็ดี ร้อยปีที่ ๒ ก็ดี ร้อยปีที่ ๓ ก็ดี ที่ควรมีอธิกสุร์ทินนั้น ก็ให้กลับปีนั้นเปนปีปรกติ ต่อเมื่อถึงร้อยปีที่ ๔ จึ่งได้คงเปนอธิกสุร์ทิน ทางนับอย่างนี้ คิดเฉลี่ยเปนปีหนึ่งได้ ๓๖๕ วัน ๕ โมง ๔๙ นาที ๑๒ วินาที มากกว่ามัธยมประมาณอยู่ปีละ ๒๓ วินาที อย่างน้อยที่สุดที่จะคิดให้เปนไปได้ต่อล่วงไปเกือบ ๔๐๐๐ ปี จึ่งจะเคลื่อนถึงวันหนึ่ง วิธีทางนับอันนี้สมกับเหตุอันควรประการที่ ๑ ซึ่งกล่าวมาแล้วนั้น โดยใกล้ชิดกับฤดูกาลอย่างที่สุด แลสมกับเหตุอันควรประการที่ ๒ โดยนับปีหนึ่งมีประมาณไม่มากไม่น้อยกว่ากันนัก มีแต่ปีปรกติ ๓๖๕ วัน กับปีอธิกสุรทิน ๓๖๖ วัน เปนกาลกำหนดสมควรที่จะเทียบเคียงความเจริญฤๅเสื่อมถอยในสรรพสิ่ง