ข้ามไปเนื้อหา

หน้า:ประชุมกาพย์เห่เรือ - ๒๔๖๐.pdf/7

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
(๕)

ถ้าว่าโดยลำนำสำหรับเห่เรือ ในตำราบอกไว้แต่ ๓ อย่าง เรียกว่า สวะเห่ อย่าง ๑ ช้าลวะเห่ อย่าง ๑ มูลเห่ อย่าง ๑ แต่ที่เคยสังเกตเห็นลักษณเห่ในกระบวนหลวง เห็นเห่อยู่ ๔ อย่าง คือ เมื่อเสด็จลงประทับในเรือพระที่นั่งแล้ว หลวงพิศณุเสนี ขุมรามเภรี เปนต้นบท (จะได้เปนต้นบทโดยตำแหน่งฤๅโดยเฉภาะตัว ข้าพเจ้าไม่ทราบแน่) คนหนึ่งนั่งคุกเข่าพนมมือเห่โคลงนำกาพย์ บางทีเรียกกันว่า เกริ่นโคลง ก็เคยได้ยิน เมื่อจบบทโคลงแล้ว จึงออกเรือพระที่นั่ง พลพายพายนกบินจังหวะช้า เพราะว่าเรือตามน้ำ ไม่หนักแรง ผจงพายเอางามได้ ใช้ทำนองเห่ช้า เข้าใจว่า ได้กับที่เรียกในตำราว่า ช้าลวะเห่ (คงเปน ช้าแลว่าเห่) คงหมายความว่า เห่ช้า พอจวนจะถึงที่ประทับ ต้นบทก็ชักสวะเห่ คำนี้จะหมายความอย่างไรยังคิดไม่เห็น คเนพอจบบทเรือพระที่นั่งก็ถึงที่จอด ขากลับเรือทวนน้ำ มีระยะย่านไกล ต้องพายหนักจังหวะเร็ว ใช้เห่ทำนองเร็ว ที่มีพลพายรับ "ฮะไฮ้" นั้น เข้าใจว่า ได้กับที่เรียกในตำราว่า มูลเห่ คงหมายความว่า เห่เปนพื้น เมื่อจบบท พายจ้ำ ๓ ทีส่งทุกบท ถ้าลอยพระประทีปเดือน ๑๒ ซึ่งมีการแต่งเรือพระที่นั่งกิ่งทรงพระไชยลำหนึ่ง พานพุ่มดอกไม้พุทธบูชาลำหนึ่ง เวลาเรือกิ่งเข้ามาทอดเทียบเรือบัลลังก์พระที่นั่ง ทรงจุดเทียนเครื่องนมัสการแล้ว โปรดให้จอดเห่ถวายอยู่นาน ๆ ว่าเปนทำนองมูลเห่ เห่ถวายแล้วออกเรือ จึงเปลี่ยนเปนทำนองช้าลวะเห่ ลักษณการเห่เรือเคยเห็นดังกล่าวมานี้