หน้า:ประชุมจารึก (ภาค ๑) - ๒๔๗๗.pdf/5

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว

แต่เรียงตัวอักษรตามแบบจารึกเดิม กับพิมพ์คำอ่านและคำแปลเป็นภาษาฝรั่งเศสไว้ การพิมพ์โดยวิธีนั้นมีประโยชน์อย่างยิ่งแก่ผู้เชี่ยวชาญภาษาและอักษรศาสตร์ของไทยโบราณ และผู้ที่รู้ภาษาฝรั่งเศส แต่จะไม่เป็นประโยชน์สำหรับคนส่วนมากที่ขาดความรู้ในสองทางนั้น ถ้าได้พิมพ์คำอ่านให้นักเรียนใหม่ ๆ หรือคนทั่วไปอ่านเข้าใจได้ กับทำคำอธิบายเท่าที่ควรอธิบายไว้ด้วยแล้ว งานเรื่องจารึกกรุงสุโขไทยจะนับว่า สมบูรณ์เท่าที่พึงปรารถนา อีกประการหนึ่งเล่า จารึกกรุงสุโขทัย ฉะเพาะอย่างยิ่ง หลักของพ่อขุนรามคำแหงนั้น ต่างประเทศได้เอาไปพิมพ์ให้ชนชาติของเขาได้อ่านเข้าใจสะดวกมาก่อนไทยเราตั้งเกือบศตวรรษ์มาแล้ว เช่น ทางอังกฤษ เซอร์ยอน เบาริง ได้เอาไปพิมพ์ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๐๐ คือ เมื่อ ๗๐ ปีเศษมาแล้ว ทางเยอรมัน นายบัสเตียนได้เอาไปพิมพ์ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๐๘ คือ เกือบ ๗๐ ปีมาแล้วเหมือนกัน ทางฝรั่เงศส นายฟูร เนอโร ได้เอาไปพิมพ์ที่ปารีสเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๔ คือ เมื่อราว ๔๐ ปีมาแล้ว และศาสตราจารย์เซเดส์ ได้มาทำอย่างละเอียดใน พ.ศ. ๒๔๖๗ อีก แปลว่า คนต่างประเทศโดยทั่วไปเขาสามารถจะอ่านศิลาจารึกของเราให้เข้าใจง่าย ๆ ได้มาตั้งหลายสิบปีแล้ว สมควรที่ไทยเราเองผู้เป็นเจ้าของจะพิมพ์คำจารึกให้อ่านเข้าใจกันได้ทั่วไป ศิลาจารึกเป็นเครื่องมือที่มีอำนาจยิ่งกว่าเครื่องมือใด ๆ ในการศึกษาโบราณคดีและประวัติศาสตร์ กล่าวโดยฉะเพาะ ศิลาจารึกกรุงสุโขทัยได้ให้แสงสว่างแก่การศึกษาประวัติศาสตร์สยาม ตัดข้อสงสัย ทำลายข้อสันนิษฐาน ลบล้างความเดา และปลดเปลื้องเรื่องนิยายที่เล่ากันมาโดยปราศจากความจริงไปได้เป็นอันมาก

ในการเรียบเรียงคำอ่านศิลาจารึกที่พิมพ์ในสมุดเล่มนี้ ข้าพเจ้าได้มอบให้ข้าราชการกรมศิลปากรผู้คุ้นเคยกับงานศิลาจารึกมาแล้ว คือ หลวงบริบาล