หน้า:ประชุมจารึก (ภาค ๑) - ๒๔๗๗.pdf/7

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
หลักที่ ๒

เรียกกันว่า ศิลาจารึกวัดศรีชุม นายพลโท พระยาสโมสรสรรพการ ครั้งยังเป็นหลวงสโมสรสรรพการ พบในอุโมงค์วัดศรีชุมเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๐ ศาสตราจารย์เซเดส์เข้าใจว่า จารึกในรัชชกาลพระธรรมราชาที่ ๑ คือ พญาลิไทย กษัตริย์องค์ที่ ๕ ของวงศ์พระร่วงกรุงสุโขทัย พญาลิไทยทรงเป็นปราชญ์ ถึงกับทรงสามารถแต่งหนังสือไตรภูมิพระร่วงซึ่งเป็นหนังสือเล่มแรกในอักษรศาสตร์ของไทยที่ยังมีอยู่ในบัดนี้ และเป็นพระมหากษัตริย์สำคัญอีกองค์หนึ่งของสุโขทัยต่อจากพ่อขุนรามคำแหง ศิลาจารึกหลักที่ ๒ นี้มีข้อความยืดยาวมาก ข้อความที่ควรใส่ใจอยู่ในตอนที่กล่าวถึงประวัติศาสตร์ของสุโขทัย ขนบธรรมเนียมต่าง ๆ รวมทั้งลัทธิพระพุทธศาสนาที่นับถือกันอยู่ในสุโขทัยครั้งกระนั้น แต่หลักศิลาจารึกหลักนี้ลบเลือนมาก และตอนท้าย ๆ กลายเป็นเรื่องปาฏิหาริย์ต่าง ๆ ไปเสีย

หลักที่ ๓

เรียกกันว่า ศิลาจารึกนครชุม เดิมอยู่ที่วัดบรมธาตุหน้าเมืองกำแพงเพ็ชร ได้นำลงมากรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๙ จารึกเมื่อ พ.ศ. ๑๙๐๐ ในรัชชกาลพญาลิไทย คือ พระมหาธรรมราชาที่ ๑ นั่นเอง เป็นเรื่องที่พญาลิไทยทรงประดิษฐานพระศรีรัตนมหาธาตุ และปลูกพระศรีมหาโพธิซึ่งได้มาจากเกาะลังกา และเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับทางศาสนาทั้งนั้น

หลักที่ ๔

เรียกกันว่า ศิลาจารึกวัดป่ามะม่วง เป็นภาษาเขมร สมเด็จพระจอมเกล้าฯ เสด็จไปพบ และโปรดเกล้าฯ ให้นำลงมากรุงเทพฯ พร้อมกับหลักที่ ๑ ไม่ทราบปีจารึกที่แน่นอน แต่เข้าใจได้ว่า จารึกราว พ.ศ. ๑๙๐๕ ในรัชชกาลพญา