หน้า:ประชุมจารึก (ภาค ๑) - ๒๔๗๗.pdf/9

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
หลักที่ ๘

เรียกว่า ศิลาจารึกภูเขาสุมนกูฎ เพราะเดิมอยู่บนเขานั้นในจังหวัดสุโขทัย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงนำมากรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๑ แตกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย แต่พอซ่อมติดต่อกันเข้าได้ เป็นเรื่องพระธรรมราชาที่ ๑ (ลิไทย) สร้างรอยพระพุทธบาทบนเขาสุมนกูฎเมื่อ พ.ศ. ๑๙๐๒ และกล่าวถึงเหตุการในสมัยพระธรรมราชาที่ ๒ (พญาไสยลือไทย) มาประทับอยู่พิษณุโลก ศาสตราจารย์เซเดส์สันนิษฐานว่า คงได้จารึกราว พ.ศ. ๑๙๑๕ แต่ข้าพเจ้าคิดว่า จะจารึกภายหลัง พ.ศ. ๑๙๑๕ ตั้ง ๑๐ ปีทีเดียว เพราะรัชชกาลพญาไสยลือไทยก็ตั้งต้นเมื่อ พ.ศ. ๑๙๑๙ เสียแล้ว

หลักที่ ๙

เรียกว่า ศิลาจารึกวัดป่าแดง เพราะคำในศิลาจารึกเป็นพะยานว่า อยู่ในวัดนั้น วัดป่าแดงเดี๋ยวนี้ไม่มีในบริเวณจังหวัดสุโขทัย ศาสตราจารย์เซเดส์จึงสันนิษฐานว่า อาจเป็นวัดซึ่งพ่อขุนรามคำแหงเรียกว่า วัดอรัญญิก คือ วัดสะพานหินเดี๋ยวนี้ ศิลาจารึกหลักนี้ได้จารึกเมื่อ พ.ศ. ๑๙๔๙ ในรัชชกาลพระธรรมราชาที่ ๓ แห่งวงศ์สุโขไทย เนื้อเรื่องเกี่ยวกับการปกครองคณะสงฆ์โดยมาก

หลักที่ ๑๐

ไม่ปรากฎว่า ได้มาจากไหน ทราบแต่ว่า จารึกเมื่อ พ.ศ. ๑๙๔๖ เป็นภาษาไทยปนมคธ ชำรุดจนหมดหวังที่จะเอาเรื่องราวที่เป็นประโยชน์ได้ พอทราบได้ว่า เป็นเรื่องสร้างถาวรวัตถุต่าง ๆ ในเมืองชะเรียง เมืองสองแคว เมืองเชียงใหม่ และเมืองสุโขทัย เท่านั้น