หน้า:ประชุมพงศาวดาร (ภาค ๑๐) - ๒๔๖๑.pdf/6

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
(ข)

เจ้าอุปราช เสียดายอยู่หน่อยแต่ที่ไม่มีเวลาพอจะสอบหนังสือราชวงษปกรณ์นี้กับหนังสือพงษาวดารเรื่องอื่นลงอธิบายไว้ด้วย จำต้องรอการสอบไว้วันน่า.

หนังสือราชวงษปกรณ์เรื่องนี้แต่งที่เมืองน่าน จึงใช้ภาษาไทยเหนือ ถ้อยคำมีผิดเพี้ยนกับข้างใต้อยู่บ้าง แต่อ่านเข้าใจได้ไม่ยาก จะเปลี่ยนใช้ถ้อยคำเปนอย่างข้างใต้เสียให้หมด ก็เห็นว่า จะเสียหลักฐานที่จะพิมพ์หนังสือเรื่องนี้ให้เปนอนุสาวรีของพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช จึงได้ให้พิมพ์ตามสำนวนเดิม ไม่ดัดแปลงแก้ไขเว้นแต่บางคำซึ่งไม่สำคัญ ให้คัดศัพท์ที่แปลกกับภาษาข้างใต้เรียบเรียงมีคำแปลพิมพ์ไว้ส่วนหนึ่งต่างหาก เมื่อผู้ใดไม่เข้าใจศัพท์ไหน ก็จะได้ดูที่แปลไว้นั้น ส่วนประวัติของพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช เจ้าอุปราชแต่งส่งมาจากเมืองน่านอย่างไร ก็ได้ให้พิมพ์ตามที่แต่งมา โดยประสงค์จะให้เข้าเปนชุดเดียวกับสำนวนหนังสือเรื่องราชวงษปกรณ์ เปนแต่ได้แก้ไขบ้างเล็กน้อย.

ในการพิมพ์หนังสือราชวงษปกรณ์ ได้ให้ขุนพินิจวรรณการ (แสง สาลิตุล) เปรียญ เปนผู้ตรวจต้นฉบับ แลให้พิมพ์เข้าในหนังสือประชุมพงษาวดาร นับเปนภาคที่ ๑๐ เพื่อจะให้รวบรวมอยู่เปนอันหนึ่งอันเดียวกับเรื่องพงษาวดารเมืองอื่น ๆ มีพงษาวดารเมืองเชียงใหม่เปนต้น ซึ่งได้พิมพ์ไว้ในหนังสือชุดนั้นแล้ว หวังใจว่า หนังสือเรื่องนี้จะเปนที่ชอบใจของบรรดาผู้ศึกษาโบราณคดีทั่วไป.