หน้า:ประชุมพงศาวดาร (ภาค ๑๔) - ๒๔๗๒ a.pdf/40

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๓๐

เจ้าอังวะว่า ตะวันออกจากทวีปเรา ถือเอาเป็นเวลาเที่ยง ให้พระสงฆ์ฉันเป็นเวลาเพล เจ้าอังวะสั่งให้ทำดังอาจารย์แขกว่านี้จึงชอบ ประการหนึ่ง ลางปีให้พระสงฆ์จำพรรษาแต่เดือนห้า ลางปีให้จำพรรษาเดือนหกก็มีบ้าง ๚

 ณศักราช ๑๑๖๒ ปีวอก โทศก เกิดโจรกำเริบตีปล้นบนบกและทางน้ำเป็นหลายกอง ๆ หนึ่ง อ้ายมะยัดแส่งบ่าวเมียงหวุ่น กั้นร่มทอง มีพวกพ้องประมาณเจ็ดร้อยแปดร้อย เที่ยวย่ำยีตีหัวเมืองทางใต้ฝ่ายดอน เจ้าอังวะเกณฑ์ทัพเที่ยวสะกัดตีเป็นหลายกองมาช้านาน แต่กองอินแซบนั้น กามะนิกยอของนายหนึ่ง ไพร่ ๑๕๐ มหากฤชนายหนึ่ง ไพร่ ๑๕๐ สองนายไพร่ ๓๐๐ ม้า ๑๕ ตัว ยกไปเที่ยวสะกัดทุกแขวง ๆ จังหวัดหัวเมืองน้อยใหญ่ยับไปด้วยโจรจุดเผาบ้านเรือนและเสบียงอาหาร กองทัพนั้นก็พาลพาโลริบฤๅจับตัวจำส่งไป ได้ความยากแค้นเป็นหนักหนา บ้านที่มีจำนวนหลังคาพันหนึ่งถึงสองพันเรือนนั้นจะคงมีแต่บ้านละร้อยเรือนบ้าง ห้าสิบเรือนบ้าง ลางแห่งก็ทิ้งภูมิลำเนาหนีเร้นไป ๚

 ณศักราช ๑๑๖๓ ปีระกา ตรีศก เจ้าอังวะให้หล่อพระพุทธรูปยืนด้วยเหล็กองค์หนึ่ง สูงแปดศอก ถวายพระนามว่า จันทามุนี ประดิษฐานไว้ณมณฑปในวัง แล้วทำรูปพระอรหันต์ด้วยไม้จำปา นั่งสมาธิ หน้าตักศอกคืบ แปดสิบองค์ ทำกุฎียกน้อยใส่รูปพระอรหันต์รอบมณฑปพระมหาจันทามุนี แล้วเจ้าอังวะให้ตีฆ้องป่าวประกาศราษฎรชาวเมืองว่า พระพุทธสาสนาของสมเด็จพระกรุณากำหนดไว้