หน้า:ประชุมพงศาวดาร (ภาค ๑๔) - ๒๔๗๒ a.pdf/6

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว

ให้แปลและพิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๗ นั้น ส่วนข้างไทยเรา เมื่อจับพะม่าข้าศึกมาได้ ฤๅได้คนซึ่งไปรู้เห็นการงานเมืองพะม่ามา ก็เอาตัวถามคำให้การเรื่องเมืองพะม่าเหมือนกัน หนังสือคำให้การว่าด้วยเรื่องราวและกิจการในประเทศต่าง ๆ มีสำเนาอยู่ในหอพระสมุดวชิรญาณหลายเรื่อง กรรมการได้รวมพิมพ์ไว้ในประชุมพงศาวดารภาคอื่นแล้วก็มี

ส่วนคำให้การ ๒ เรื่องที่พิมพ์ในสมุดเล่มนี้ คำให้การมะยิหวุ่นเป็นคำให้การของแม่ทัพพะม่าที่ไทยจับมาได้จากเมืองเชียงรายเมื่อปีวอก พ.ศ. ๒๓๓๑ ในรัชชกาลที่ ๑ เจ้าพนักงานถามคำให้การขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์

มะยิหวุ่นคนนี้ ในหนังสือเก่าเรียกชื่อหลายอย่าง บางแห่งเรียกชื่อว่า อาปะระกามะนี บางแห่งเรียกว่า "มะยิหวุ่น" บ้าง "โปมะยุง่วน" บ้าง สอบสวนได้ความว่า ที่เรียกว่า อาปะระกามะนี นั้น ตามบรรดาศักดิ์ ที่เรียกว่า มะยิหวุ่น นั้น ตามยศที่เป็นเจ้าเมือง คำว่า โป แปลว่า นายพล เพราะฉะนั้น ที่เรียกว่า โปมะยุง่วน คือ โปมะยิหวุ่น หมายความว่า เจ้าเมืองผู้เป็นนายพล คำข้างหลังทั้ง ๒ นี้เห็นจะเป็นคำคนพื้นเมืองเรียก อย่างไทยเราเรียกว่า "เจ้าคุณ" ฤๅ "เจ้าคุณแม่ทัพ" ชื่อที่พะม่าเขาเรียกในพงศาวดารเรียกว่า อาปะระกามะนี ตามบรรดาศักดิ์

ประวัติของอาปะระกามะนีที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารนั้น เดิมเป็นขุนนางอยู่เมืองอังวะ ครั้นเมื่อปีมะเมีย จัตวาศก จุลศักราช ๑๑๒๔