หน้า:ประชุมพงศาวดาร (ภาค ๑๖) - ๒๔๗๕.pdf/12

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว

พระตะบอง ซึ่งเจ้าองค์อิ่มกวาดต้อนเอาไปนั้น คืนมาให้กองทัพไทยณกรุงกัมโพชาธิบดี ขอแต่ให้เจ้าองค์ด้วงส่งเครื่องบรรณาการไปถวายพระเจ้ากรุงเวียดนาม ๓ ปีครั้ง ๑ ตามธรรมเนียม ญวนก็จะไม่มาเบียดเบียฬกรุงกัมโพชาธิบดีต่อไป ก็เป็นการตกลงเลิกรบกัน แต่เจ้าองค์แบนเป็นราชธิดาสมเด็จพระอุไทยราชานั้น ญวนมีความสงไสยว่า เป็นบุตรนักเทพ หลานเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ จึงให้ประหารชีวิตรเสียณเมืองเว้ เจ้าองค์อิ่ม พระมหาอุปราช ก็ถึงแก่พิราลัยที่เมืองญวน

ถึงปีมะแม นพศก (พ.ศ. ๒๓๙๐) พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งองค์ด้วงเป็นสมเด็จพระหริรักษ์รามามหาอิศราธิบดี เจ้ากรุงกัมโพชาธิบดี กองทัพเจ้าพระยาบดินทรเดชาก็เลิกกลับเข้ามาณกรุงเทพฯ แล้วโปรดเกล้าฯ ตั้งพระนรินทรโยธา ชื่อ ม่วง ให้เป็นพระยาอภัยภูเบศร์ เจ้าเมืองพระตะบอง (๖) แล้วองค์สมเด็จพระหริรักษ์ฯ ถวายเจ้าองค์ราชาวดี ๑ เจ้าองค์ศรีสวัสดิ ๑ เจ้าองค์วัตถา ๑ เข้ามารับราชการณกรุงเทพฯ

ครั้นถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ ตั้งเจ้าองค์ราชาวดีเป็นองค์พระนโรดมพรหมบริรักษ์มหาอุปราช ตั้งเจ้าองค์ศรีสวัสดิเป็นองค์พระหริราชดไนยไกรแก้วฟ้า ไปช่วยราชการองค์สมเด็จพระหริรักษ์ฯ ณกรุงกัมโพชาธิบดี แต่เจ้าองค์วัตถาให้อยู่รับราชการณกรุงเทพฯ ทรงตั้งหลวงอภัยพิทักษ์ ชื่อ เยีย บุตรพระยาอภัยภูเบศร์ เป็นพระคทาธรธรณินทร์ ผู้ช่วยราชการเมืองพระตะบอง