หน้า:ประชุมพงศาวดาร (ภาค ๑๖) - ๒๔๗๕.pdf/13

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว

องค์สมเด็จพระหริรักษ์ฯ ครองกรุงกัมโพชาธิบดีได้ ๑๓ ปี ถึงปีวอก โทศก (พ.ศ. ๒๔๐๓) ก็ถึงแก่พิราลัย ฝ่ายพระยาอภัยภูเบศร์ บิดาพระคทาธรธรณินทร์ เป็นเจ้าเมืองพระตะบองได้ ๑๓ ปี ก็ถึงอนิจกรรม จึงโปรดเกล้าฯ ตั้งพระคทาธรธรณินทร์ เยีย ให้เป็นผู้รั้งราชการเมืองพระตะบอง

ครั้งนั้น โปรดเกล้าฯ พระราชทานอนุญาตให้เจ้าองค์วัตถาออกไปเยี่ยมศพสมเด็จพระหริรักษ์ฯ ณกรุงกัมโพชาธิบดี องค์สมเด็จพระนโรดมกับเจ้าองค์วัตถาก็เกิดร้าวรานบาดหมางถึงรบพุ่งกัน เจ้าองค์วัตถาแตกหนีมาทางเมืองกะพงสวายเข้ามาณเมืองนครเสียมราฐ จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าเมืองพระตะบองรับเจ้าองค์วัตถาส่งเข้ามาณกรุงเทพฯ ภายหลัง พระยาพระเขมรที่เป็นพรรคพวกเจ้าองค์วัตถาคิดก่อการกำเริบลุกลามขึ้นยกเป็นกระบวนทัพไปรบกับกองทัพองค์สมเด็จพระนโรดม กองทัพองค์สมเด็จพระนโรดมแตก องค์สมเด็จพระนโรดมก็พาครอบครัวพระยาพระเขมรหนีเข้ามาเมืองพระตะบอง แล้วก็บอกข้อราชการเข้ามาณกรุงเทพฯ จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยามุขมนตรีคุมกองทัพออกไปตั้งอยู่ณเมืองพระตะบองคิดระงับเหตุการณ์ที่กรุงกัมโพชาธิบดี แต่องค์สมเด็จพระนโรดมนั้น ให้เข้ามาเฝ้าทูลละอองฯ ณกรุงเทพฯ ต่อมา กองทัพเจ้าพระยามุขมนตรีเลื่อนออกไปตั้งอยู่ณเมืองอุดงมีไชย แล้วโปรดเกล้าฯ ให้ส่งองค์สมเด็จพระ