หน้า:ประชุมพงศาวดาร (ภาค ๑๗) - ๒๔๖๓.pdf/19

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๑๓

ต่อไปอีก เว้นแต่ถ้านายอากร "ฟ้องขาด" คือ ไม่รับทำ ฤๅขอลดเงินหลวง จึงประกาศเรียกประมูลใหม่

 ผู้ที่เปนนายอากรบ่อนเบี้ยนั้น คนทั้งหลายมักเรียกว่า "ขุนพัฒน์" เพราะเหตุใด มีอธิบายว่า เพราะประเพณีเก่ามีการหลายอย่างซึ่งกฎหมายอนุญาตให้ทำได้แต่ผู้มีบันดาศักดิ์ ดังเช่น การที่จะเปนถ้อยความในโรงศาล แต่ก่อนต้องเปนผู้มีบันดาศักดิ์ถือศักดินาแต่ ๔๐๐ ไร่ขึ้นไป จึงจะแต่งทนายว่าความต่างตัวได้ คงจะเปนด้วยข้อนี้เองที่จำต้องให้เจ้าภาษีนายอากรมีบันดาศักดิ์ เพราะมักจะต้องฟ้องร้องผู้ลักเล่นการพนัน จะได้แต่งทนายว่าความต่างตัวได้ไม่เสียประโยชน์การทำอากร เพราะฉนั้น เมื่อตั้งผู้ใดเปนเจ้าภาษีนายอากร ถ้าแลผู้นั้นยังมิได้มีบันดาศักดิ์อยู่ก่อนแล้ว จึงมีความในตราตั้งว่า ให้ผู้นั้นเปนขุนนั่น ๆ ตำแหน่งเจ้าภาษีฤๅนายอากรนั้น ๆ แต่เปนอยู่ชั่วเวลาเปนเจ้าภาษีนายอากรเท่านั้น ถ้าออกจากเจ้าภาษีนายอากร ก็ต้องออกจากบันดาศักดิ์กลับลงมาเปนราษฎรอย่างเดิม เปนประเพณีมาดังนี้ แลนามตามบันดาศักดิ์ของนายอากรบ่อนเบี้ยนั้นเดิมเปนที่ "พัฒนสมบัติ" ภายหลังมาเมื่อมีนายอากรหลายคนขึ้น ตั้งนายอากรใหม่ ใช้ชื่อคำว่า "พัฒน์" ขึ้นต้นทุกคน เช่น ขุนพัฒนาภิรมย์ ขุนพัฒนโภไคย ขุนพัฒนภักดี ขุนพัฒนานุการ ทำนองนี้เปนตัวอย่าง คนทั้งหลายเรียกแต่ด้วยต้นชื่อว่า "ขุนพัฒน์" ด้วยเหตุนี้คำว่า "ขุนพัฒน์" จึงเปนชื่อสำหรับเรียกบรรดานายอากรบ่อนเบี้ยทั่วไปทุกคน