ข้ามไปเนื้อหา

หน้า:ประชุมพงศาวดาร (ภาค ๓๔) - ๒๔๖๙.pdf/10

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว

หามีเรื่องราวทางราชการปรากฎไม่ ต่อมาอีกจนถึง พ.ศ. ๒๒๑๖ การเกี่ยวข้องในทางราชการระหว่างสมเด็จพระนารายณ์มหาราชกับพระเจ้าหลุยที่ ๑๔ จึงได้เกิดขึ้น คือ มองเซนเยอร์ปาลูซึ่งเข้ามาเมืองไทยเมื่อ พ.ศ. ๒๒๐๕ นั้น ได้กลับออกไปประเทศยุโรป แลได้ไปเฝ้าโป๊ปที่กรุงโรมเพื่อปรึกษาในเรื่องการสาสนา เมื่อกลับเข้ามาเมืองไทย ได้เชิญพระราชสาสนของพระเจ้าหลุย แลศุภอักษรของโป๊ป พร้อมทั้งเครื่องราชบรรณาการต่าง ๆ เข้ามาถวายสมเด็จพระนารายณ์ด้วย เพื่อเปนการแสดงความขอบพระทัยที่ได้ทรงอุปการะบันดามิซชันนารีทั้งหลายที่มาอยู่ในเมืองไทยให้ได้รับความร่มเย็น ประเทศสยามกับประเทศฝรั่งเศสจึงได้เริ่มเกี่ยวข้องกันตั้งแต่นั้นมา

ต่อมาเมื่อบริษัทค้าขายฝรั่งเศสแพนกอินเดียตวันออก ซึ่งท่านเสนาบดีกอลแบร์ตตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๒๐๗ เพื่อแข่งขันการค้าขายกับบริษัทฮอลันดา ได้ทราบข่าวว่า พวกมิซชันนารีฝรั่งเศสซึ่งอยู่ในเมืองนี้ได้รับความสุขสบาย ก็คิดเห็นเปนโอกาศเหมาะที่จะเข้ามาตั้งห้างค้าขายในเมืองไทย ที่สุด ตั้งห้างขึ้นที่กรุงศรีอยุธยาได้ห้างหนึ่งเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๒๒๓ นับว่า เปนห้างค้าขายฝรั่งเศสห้างแรกที่มาตั้งในเมืองไทย

ฝ่ายสมเด็จพระนารายณ์ ครั้นทรงเห็นว่า มีพ่อค้าฝรั่งเศสเข้ามาทำการค้าขายถึงเมืองไทย แลทรงทราบข่าวที่พระเจ้าหลุยได้ไชยชนะสงคราม จึงทรงแต่งทูตชุดหนึ่งออกไปเจริญทางพระราชไมตรี