หน้า:ประชุมพงศาวดาร (ภาค ๓๔) - ๒๔๖๙.pdf/14

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว

ไม่ต้องเสียภาษีสินค้าทั้งขาเข้าแลขาออก แต่มีข้อจำกัดแขงแรงอยู่ข้อหนึ่งว่า สินค้าต่าง ๆ บริษัทจะต้องไปซื้อที่คลังหลวงแต่แห่งเดียว ผู้จัดการบริษัทอินเดียในเมืองไทยมีอำนาจปกครองบังคับคนใช้ของบริษัทได้ตามความพอใจ นอกจากนี้ บริษัทยังได้รับอนุญาตให้ทำการค้าขายดีบุกในเมืองถลางได้แต่ผู้เดียว มีตั้งห้างค้าขายแลสร้างโรงงารที่เมืองนั้นได้ เเลที่เมืองสงขลาก็อนุญาตให้ทำการค้าขายเเลสร้างป้อมได้ แต่การที่รัฐบาลไทยยอมยกสิทธิในสิ่งสำคัญ ๆ ให้แก่บริษัทอินเดียตวันออกโดยมิได้รับสิ่งใดเปนเครื่องตอบแทนเลยเช่นนั้นแล้ว ก็ยังหาเปนที่พอใจแก่กรรมการบริษัทนั้นไม่ ดังจะเห็นได้จากหนังสือสัญญาค้าขายฉบับหลัง ทำเมื่อปี พ.ศ. ๒๒๓๑ ซึ่งข้าพเจ้าได้พบต้นฉบับที่เมืองปารีสแลพิมพ์อยู่ในหนังสือเล่มนี้

เมื่อได้กล่าวถึงกิจการของทูตฝรั่งเศสครั้งแรกที่ได้มากระทำการในระหว่างที่อยู่ในเมืองไทยนั้นแล้ว จะได้เล่าถึงตอนเขาเดิรทางกลับต่อไป

มองสิเออร์เลอ เชอวาเลีย เดอ โชมอง ราชทูต กับพวก พักอยู่ในเมืองไทย ๓ เดือน พอถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๒๒๘ ก็เดิรทางออกจากกรุงศรีอยุธยากลับประเทศฝรั่งเศสไปถึงเมืองเบรสตวันที่ ๑๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๒๒๙ เมื่อทูตฝรั่งเศสจะกลับครั้งนั้น สมเด็จพระนารายณ์ได้ทรงแต่งทูตอีกชุดหนึ่งออกไปเจริญาทางพระราชไมตรีกับพระเจ้าหลุย เพื่อเปนกาตอบแทนที่ฝรั่งเศสได้มีทูตมาเมืองไทย