ข้ามไปเนื้อหา

หน้า:ประชุมพงศาวดาร (ภาค ๕๒) - ๒๔๘๒.pdf/20

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๑๔

ฟังก็พากันร้องไห้สอึกสอื้นอาลัย จึงดำรัสห้ามว่า อย่าร้องไห้ ความตายไม่เป็นอัศจรรย์อันใด ย่อมมีย่อมเป็นเหมือนกันทุกรูปทุกนาม ผิดกันแต่ที่ตายก่อนและตายทีหลัง แต่ก็อยู่ในต้องตายเหมือนกันทั้งสิ้น บัดนี้ เมื่อกาละมาถึงพระองค์เข้าแล้ว จึงได้ลาท่านทั้งหลาย แล้วมีพระราชดำรัสต่อไปว่า มีพระราชประสงค์จะรับสั่งด้วยราชการแผ่นดิน แต่จะทรงสมาทานเบญจศีลเสียก่อน ครั้นทรงสมาทานศีลแล้ว ตรัสภาษาอังกฤษหลายองค์ แล้วจึงมีพระราชดำรัสว่า ที่พูดภาษาอังกฤษนี้เพื่อจะให้ท่านทั้งหลายเห็นว่า สติสัมปชัญญยังเป็นปกติ ถึงภาษาอื่น มิใช่ภาษาของตน ก็ยังทรงจำได้ด้วยสติยังดีอยู่ ท่านทั้งปวงจะได้สำคัญในข้อความที่จะสั่งว่า มิได้สั่งโดยฟั่นเฟือน เมื่อตรัสประภาษดังนี้แล้ว จึงมีพระราชดำรัสต่อไปว่า ท่านทั้ง ๓ กับพระองค์ได้ช่วยกันทำนุบำรุงแผ่นดินมาได้อยู่เย็นเป็นสุขตลอดมาจนถึงเวลาสิ้นพระชนมายุ ถ้าสิ้นพระองค์ล่วงไปแล้ว ขอให้ท่านทั้งปวงจงช่วยกันทำนุบำรุงแผ่นดินต่อไปให้เรียบร้อย ให้สมณพราหมณ์อาณาประชาราษฎรได้พึ่งอยู่เย็นเป็นสุขทั่วกัน ขอให้ทูลพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ให้เอาเป็นพระธุระรับฎีกาของราษฎรอันมีทุกข์ร้อนให้ร้องได้สะดวกเหมือนพระองค์ได้ทรงเป็นพระธุระรับฎีกามาแต่ก่อน[1] อนึ่ง 


  1. ประเพณีราษฎรถวายฎีกามาแต่ก่อน เป็นที่เข้าใจกันว่า ถ้าใครมีความทุกข์ร้อน ให้เข้าไปตีกลองใบ ๑ ซึ่งแขวนไว้ที่ทิมดาบกรมวัง เมื่อเสียงกลองถึงพระกรรณ ก็โปรดฯ ให้ราชบุรุษออกมารับฎีกา เรียกกันว่า "ตีกลองร้องฎีกา" เห็นจะเป็นประเพณีมาแต่โบราณ แต่ตามการที่เป็นจริง ไม่ใคร่มีใครกล้าเข้าไปตีกลองร้องฎีกา ถ้ามีทุกข์ร้อนจะถวายฎีกา ก็ถวายในเวลาเมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปยังที่ไหน ๆ นอกพระราชวัง เมื่อในรัชชกาลที่ ๓ มิใคร่จะมีเวลาเสด็จไปไหน ราษฎรที่ถูกผู้มีอำนาจกดขี่ข่มเหงจะถวายฎีกาได้ด้วยยาก พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงทราบพฤติการอันนี้มาแต่พระองค์ยังทรงผนวชอยู่ ครั้นเสด็จผ่านพิภพ จึงเอาพระราชหฤทัยใส่ที่จะเสด็จออกพระราชทานโอกาสให้ราษฎรถวายฎีกาได้โดยสะดวกมาตลอดรัชชกาล