หน้า:ประชุมพงศาวดาร (ภาค ๕๖) - ๒๔๗๕ b.pdf/12

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว

ตัวให้เที่ยงธรรม ทำให้คมคาย ให้พระยาพระเขรกลัวอำนาจ อย่าให้หมิ่นประมาทได้ กลัวนั้นมีอยู่ ๓ ประการ กลัวอาชญา ประการ ๑ กลัวบุญกลัววาสนา ประการ ๑ กลัวสติปัญญารู้เท่าทัน ประการ ๑ กลัวบุญ กลัววาสนา กลัวสติปัญญา ทั้งรักทั้งกลัว เขมรผู้ใดผิด กระทำโทษตามผิดนั้น ก็ให้หยิบยกโทษผิดออกให้เห็น อย่าให้ผู้อื่นติเตียนว่า กระทำโทษคนหาผิดมิได้ จะพิพากษาตัดสินกิจสุขทุกข์อาณาประชาราษฎรประการใด ก็ให้เป็นยุติธรรม ให้สอดส่องจงรอบคอบ อย่าให้พระยาพระเขมรทำข่มเหงเบียดเบียฬฉ้ออาณาประชาราษฎรให้ได้ความเดือดร้อน นายก็อย่าให้เบียดเบียฬบ่าว ๆ จะได้มีใจรักนาย นายไพร่จะได้พร้อมมูลช่วยกันรักษาเจ้านายบ้านเมือง เต็มใจสู้รบอ้ายญวน กับให้ระวังพระยาพระเขมรอย่าให้อิจฉาริษยาชิงบ่าวไพร่ให้แตกสามัคคีรสกัน ถ้าแตกสามัคคีรสกันแล้ว สารพัดที่จะเสียการทุกอย่าง ถ้าตั้งอยู่ในสามัคคีรสพร้อมมูลกัน ถึงคนน้อย ก็สู้ข้าศึกศัตรูมากได้

ฝ่ายเราตั้งบ้านตั้งเมืองขึ้นครั้งนี้ ญวนรู้ไป กำลังโทโส ก็คงจะมากระทำตอบแทนอีก ปัญญาญวนคงจะคิดไม่ให้มีเจ้านายเขมร ให้เขมรสิ้นที่พึ่งสิ้นที่นับถือ แล้วญวนจึ่งจะอยู่ในเขตต์เมืองเขมรได้ ญวนทำศึกสนัดทางเรือ เขมรทำศึกสนัดทางบก ก็ต้องคิดตัดทางเรือเสีย อย่าให้เรือญวนเข้ามาเถิงบ้านเถิงเมือง ญวนจะขึ้นบกมา ก็ให้สู้รบญวนจงสามารถ ป้องกันรักษาบ้านเมืองไว้กว่ากองทัพช่วยจะออกไปเถิง ถ้ากองทัพออกไปเถิงแล้ว เถิงญวนจะมา