หน้า:ประชุมพงศาวดาร (ภาค ๕๖) - ๒๔๗๕ b.pdf/30

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๒๖

ทะเล ไทยได้เมืองพนมเพ็ญ ก็ได้บรรดาหัวเมืองริมทางน้ำทางฝ่ายข้างเหนือทั้งสิ้น

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า การสงครามได้เปรียบญวน ถ้าตีได้เมืองโจดกอีกเมืองหนึ่ง แล้วถมคลองขุดซึ่งเป็นทางคมนาคมเสีย ก็จะกันญวนให้ขาดจากแดนเขมรได้ จึงโปรดฯ ให้เตรียมกองทัพใหญ่อีกครั้งหนึ่ง ให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาเป็นแม่ทัพบก เจ้าพระยายมราช (บุนนาค) เป็นนายหน้า และให้เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรรังสรรค์ (คือ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว) เป็นแม่ทัพเรือ จมื่นไวยวรนาถ (คือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ) เป็นนายทัพหน้า ยกลงไประดมตีเมืองโจดกเมื่อปลายปีฉลู พ.ศ. ๒๓๘๔ แต่การไม่สำเร็จได้ดังพระราชประสงค์ ด้วยทัพเรือไปอ่อนแอเสียอีกเหมือนหนหลัง ก็ต้องถอยกลับมาทั้งทัพบกและทัพเรือ แต่นั้น เมืองเขมรก็แยกกันเป็น ๒ ภาค ภาคใต้เป็นของพระองค์อิ่ม ภาคเหนือเป็นของพระองค์ด้วง ไม่สามารถปราบปรามกันได้

ถึงปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๓๘๘ ญวนให้ยกกองทัพใหญ่เข้ามาเมืองเขมรอีกครั้งหนึ่ง มาตั้งทัพหลวงที่เมืองพนมเพ็ญ หมายจะรบพุ่งเอาชะนะไทยให้จงได้ กองทัพญวนขึ้นมาตีเมืองอุดง เจ้าพระยาบดินทรเดชาแต่งกองทัพช้างศึกออกต่อสู้ ตีกองทัพญวนแตกยับเยินไป แต่นั้น ญวนก็ขยาด หากล้ามาตีเมืองอุดงอีกไม่ ต่อนั้นมา มีเหตุสำคัญเกิดขึ้นทางฝ่ายญวน ด้วยพระเจ้าเวียดนามเทียวตรีก็สิ้นพระชนม์ พระเจ้าตือดึกได้รับรัชชทายาท