หน้า:ประชุมพงศาวดาร (ภาค ๕๖) - ๒๔๗๕ b.pdf/7

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว

สิ้นพระชนม์ ถึงรัชชกาลพระเจ้าเวียดนัมมินมาง ราชบุตรซึ่งได้รับรัชชทายาท ญวนก็คิดแผ่อำนาจต่อเข้ามาทางเมืองลาวลุ่มลำน้ำโขงอีกทางหนึ่ง พอขึ้นรัชชกาลที่ ๓ กรุงรัตนโกสินทร เจ้าอนุเจ้าเมืองเวียงจันท์เป็นกบฎขึ้นด้วยญวนอุดหนุน ถึงต้องรบพุ่งปราบปรามเป็นการใหญ่ ครั้นเจ้าอนุพ่ายแพ้หนีไปพึ่งญวน พระเจ้าเวียดนัมมินมางก็มีราชสาส์นเข้ามาว่ากล่าวขอโทษเจ้าอนุเหมือนอย่างครั้งเมืองเขมรในหนหลัง พระบาทสมเด็จพระสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงขัดเคืองญวน ไม่ยอมทำตาม ให้ปราบปรามพวกกบฎเวียงจันท์จนราบคาบ ทางไมตรีในระวางไทยกับญวนก็หมองหมางกันแต่นั้นมา

ครั้นถึงปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๓๗๖ พวกญวนที่เมืองไซ่ง่อนเป็นกบฎต่อเจ้าเวียดนัมมินมาง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระพระราชดำริว่า เป็นโอกาสที่จะเอาเมืองเขมรคืน และให้ญวนหายกำเริบเสียบ้าง จึ่งโปรดให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาเป็นแม่ทัพบกยกไปตีเมืองเขมรแล้วให้ตีหัวเมืองญวนลงไปจนเมืองไซ่ง่อน และให้เจ้าพระยาพระคลังเป็นแม่ทัพเรือยกไปตีหัวเมืองเขมรและญวนตามชายทะเล แล้วไปสมทบกับกองทัพบกตีเมืองไซ่ง่อนด้วยกัน พอกองทัพไทยเข้าแดนเขมร สมเด็จพระอุทัยราชาก็หนีลงไปเมืองไซ่ง่อน พวกเขมรพากันมาอ่อนน้อมโดยดี มิต้องรบพุ่ง กองทัพไทยก็ตีหัวเมืองชายแดนญวนเข้าไปจนถึงได้เมืองโจดก แล้วเข้าทางคลองขุดไปสมทบกันตีค่ายใหญ่ของญวนซึ่งตั้งรับอยู่ที่ด่านปากคลองข้างใน กองทัพเรือรบพุ่งอ่อนแอ กองทัพไทยตีเมืองด่านนั้นไม่ได้ ต้องตั้งรั้งราอยู่ เกิดขัดสนสะเบียงอาหาร และเมื่อพวกเขมรชาวหัวเมืองข้างใต้ซึ่งเคยกลัวญวนเห็นว่า กองทัพไทยทำการไม่สำเร็จ ก็เป็นกบฏขึ้นด้วย กองทัพไทยก็ต้องเลิกกลับมา ญวนก็ให้สมเด็จพระอุทัยกลับขึ้นมาอยู่