หน้า:ประชุมพงศาวดาร (ภาค ๖๓) - ๒๔๗๙.pdf/161

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
(ข)

ในหนังสือนิบาตชาดก เล่ม ๒ หน้า ๑๗๒) เนื้อความในชาดกนั้นว่า คืนหนึ่ง พระเจ้าปะเสนทิ ซึ่งครองประเทศโกศลอยู่ณเมืองสาวัตถีเป็นราชธานี ทรงพระสุบินนิมิตอย่างแปลกประหลาด ๑๖ ข้อ (จำนวนตรงกันกับในเพลงยาว) เกิดหวาดหวั่นพระราชหฤทัย ตรัสให้พวกพราหมณ์พยากรณ์ พวกพราหมณ์ว่า พระสุบินนั้นร้ายนัก เป็นนิมิตที่จะเกิดภัยอันตรายใหญ่หลวง ทูลแนะนำให้ทำพิธีบูชายัญป้องกันภยันตราย แต่นางมัลลิกา มเหษี เห็นว่า พิธีบูชายัญนั้นต้องฆ่าสัตว์ตัดชีวิต จะกลับเป็นบาปกรรม ทูลขอให้พระเจ้าปะเสนทิไปทูลถามพระพุทธเจ้าให้ทรงพยากรณ์เสียก่อน เมื่อพระเจ้าปะเสนทิไปทูลถาม พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า พระสุบิน ๑๖ ข้อนั้นสังหรเหตุร้ายจริง แต่เหตุร้ายเหล่านั้นจะยังไม่เกิดในรัชกาลของพระเจ้าปะเสนทิและในพุทธกาล จะเกิดต่อเบื้องหน้าเมื่อพระมหากษัตริย์ไม่อยู่ในราชธรรม และมนุษย์ทั้งหลายทิ้งกุศลสุจริต จึงจะถึงยุคเข็ญ นิมิตร้ายในพระสุบินหามีภัยอันตรายแก่พระองค์อย่างไรไม่ พระเจ้าปะเสนทิได้ทรงฟังพระพุทธฎีกา ก็สิ้นพระวิตก ทูลขอให้พระพุทธองค์ทรงพยากรณ์นิมิต ๑๖ ข้อนั้นต่อไป พระพุทธองค์จึงทรงพยากรณ์ทีละข้อ แต่จะคัดพุทธพยากรณ์มาแสดงโดยพิศดาร จะยืดยาวนัก จะกล่าวแต่ ๒ ข้อซึ่งใกล้อย่างยิ่งกับที่กล่าวในเพลงยาวว่า

"กระเบื้องจะเฟื่องฟูลอย น้ำเต้าอันลอยจะถอยจม"

ในพระสุบินข้อ ๑๒ ว่า พระเจ้าปะเสนทิทอดพระเนตรเห็น "น้ำเต้าเปล่า" (คือ ที่รวงเอาเยื่อข้างในออก เหลือแต่เปลือกสำหรับใช้ตักน้ำ)