หน้า:ประชุมพงศาวดาร (ภาค ๖๔) - ๒๔๗๙.pdf/423

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
378
 

ครั้นอยู่มา ศักราช ๑๐๖๐ ปีเถาะ เอกศก[1] (พ.ศ. ๒๒๔๑) กรมการเมืองสวรรคโลกได้ช้างพลายช้างหนึ่ง รับพระราชทานน้ำเข้าไป น้ำหยดออกมาปลายงา จึงนำลงมาถวายณกรุงฯ จึงมีพระราชโองการตรัสสั่งให้รั้งรออยู่เพียงหอแปลพระราชสารบ้านนางเลิ้ง ให้สมโภชทำขวัญ ๓ วัน ๓ คืน ขนานชื่อพระราชทานชื่อ พระบรมคเชนทรสังกทันต์ แล้วรับเข้ามาไว้ณโรงในพระราชวัง ขณะนั้น ให้เกิดพยาธิโรคาป่วยไข้ ชนก็ตายเป็นอันมาก ในปีนั้น น้ำมากเหลือขนาด ท่วมไร่นาเรือกสวน

เพียงนี้ เรื่องพระเพทราชากับพระเจ้าเสือทำไว้แต่ก่อน บัดนี้ สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งให้เจ้าพระยาพิพิธพิชัยกระทำเรื่องพระนารายน์เป็นเจ้า กับพระเพทราชา พระเจ้าเสือ พระบรมโกศ พระเจ้าพระที่นั่งสุริยามรินทร์ ทำศักราชถัดกันไป

(๒๗) รัชกาลสมเด็จพระนารายน์

ณศักราช ๑๐๔๔ ปีจอศก (พ.ศ. ๒๒๒๕) สมเด็จพระนารายน์เป็นเจ้าเมืองลพบุรีทรงพระประชวรอยู่ณพระที่นั่งสุทธาสวรรค์ พระเพทราชาเข้าไปอยู่ณตึกพระจ่เหา แล้วให้ตำรวจลงมาเชิญเสด็จเจ้าฟ้างอย อภัยทศ พระอนุชาธิราชร่วมพระราชบิดาเดียวกัน 


  1. บางทีจะเป็นปีชวด สัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๐๗๐ เป็นอย่างต่ำ เพราะข้างหน้าได้กล่าวถึงจุลศักราช ๑๐๖๙ มาแล้ว