หน้า:ประชุมพงศาวดาร (ภาค ๗๑) - ๒๔๘๑.pdf/110

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๙๖

ยังไม่มีอำนาจที่จะรู้รักษาตัว สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยามทรงพระกรุณาทำนุบำรุงไว้จนถึงปีเถาะ สับตศก จุลศักราช ๑๑๕๗ (พ.ศ. ๒๓๓๘) มีคฤศตศักราช ๑๗๙๕ นักพระองค์เองเจ้าเขมรนั้นมีวัยจำเริญสมควรแล้ว สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยามทรงพระกรุณาแต่งตั้งออกไปให้เป็นเจ้าเป็นใหญ่ในเมืองเขมรทั้งสิ้นตามเดิม มีนาม สมเด็จพระนารายณ์รามาธิบดี ยกไว้เป็นของไทยแต่แฃวงปัตบองและแขวงเสียมราบ นักพระองค์เองพระนารายณ์รามาธิบดีนั้นไปเป็นเจ้าเมืองเขมรอยู่ก็ได้ถวายบรรณาการแก่กรุงเทพมหานครทุกปี ล่วงมา ๓ ปีก็ถึงแก่พิราลัยในปีมะเส็ง นพศก จุลศักราช ๑๑๕๙ (พ.ศ. ๒๓๔๐) มีคฤศตศักราช ๑๗๙๗ สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยามจึ่งโปรดให้พระยาพระเขมรผู้ใหญ่รักษาเมืองต่อมาอย่างครั้งก่อน ยังหาได้ตั้งเจ้าองค์อื่นให้เป็นเจ้าเมืองเขมรไม่ เพราะบุตรของเจ้าเมืองเขมรถึงแก่พิราลัยนั้นยังเยาว์อยู่ สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยามให้ทำนุบำรุงรักษาไว้ในเมืองเขมรนั้นมิให้เป็นอันตราย และให้รักษาบ้านเมืองมิให้วุ่นวายมาอีก ๙ ปี ถึงปีขาล อัฐศก จุลศักราช ๑๑๖๘ (พ.ศ. ๒๓๔๙) มีคฤศตศักราช ๑๘๐๖ บุตรใหญ่ของเจ้าเมืองเขมรที่ถึงแก่พิราลัยชื่อ นักพระองค์จันทร์ มีชนมายุได้ ๑๖ ปี สมเด็จพระเจ้ากรุงสยามจึ่งได้ทรงตั้งแต่งให้เป็นเจ้าเมืองเขมรสืบต่อมา มีนามว่า สมเด็จพระอุทัยราชาธิราช นักพระองค์จันทร์สมเด็จพระอุทัยราชาธิราชเจ้าเมืองเขมรองค์ใหม่ก็ได้ถวายบรรณาการแก่กรุงเทพมหานครทุกปีมิได้ขาด ครั้นเมื่อสิ้นรัชชกาลที่ ๑ ในกรุงเทพมหานคร และครั้นเมื่อญวนมีอำนาจขึ้น นักพระองค์จันทร์สมเด็จพระอุทัยราชา