หน้า:ประชุมพงศาวดาร (ภาค ๗๑) - ๒๔๘๑.pdf/114

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๑๐๐

เอกศก จุลศักราช ๑๒๐๑ ปลายปี (พ.ศ. ๒๓๘๒) มีคฤศตศักราช ๑๘๔๐ ก็ได้แต่งเครื่องบรรณาการเข้ามาส่งแก่กรุงเทพมหานครอย่างครั้งบิดาและพี่ชายเคยส่งมาแต่ก่อนนั้นทุกปีมิได้ขาด

ครั้นปีมะแม นพศก จุลศักราช ๑๒๐๙ (พ.ศ. ๒๓๙๐) มีคฤศตศักราช ๑๘๔๗ สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยามทรงตั้งนักพระองค์ด้วงเจ้าเขมรองค์นั้นเป็นเจ้าเป็นใหญ่ในเมืองเขมร มีนามว่า สมเด็จพระหริรักษรามมหาอิศราธิบดี และทรงทำนุบำรุงให้ตั้งบ้านเมืองลงใหม่ คือ เมืองอุดงมีชัย นักพระองค์ด้วงเจ้าเมืองเขมรคิดถึงพระเดชพระคุณ จึ่งเพิ่มบรรณาการ คือ กระวานส่วย ให้มากขึ้นกว่าแต่ก่อน สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยามก็พระราชทานสิ่งของตอบบรรณาการและรางวัลผู้คุมบรรณาการเข้ามา ณ กรุงเทพฯ มากขึ้นกว่าแต่ก่อน แล้วนักพระองค์ด้วงสมเด็จพระหริรักษรามมหาอิศราธิบดีให้บุตรชายผู้ใหญ่ชื่อ นักพระองค์ราชาวดี เข้ามาทำราชการอยู่ในกรุงเทพมหานคร เมื่อมีเหตุอันใด ๆ หรือจะแต่งทูตไปเมืองญวนเมื่อใด ก็มีใบบอกเข้ามากราบทูลฉลอง ต่อโปรดยอมให้ทำจึ่งทำได้ การเป็นไปดังนี้จนสิ้นรัชชกาลที่ ๓

ครั้นมาถึงรัชชกาลที่ ๔ การเมืองเขมรกับไทยก็เป็นไปโดยปกติดังก่อน นักพระองค้ด้วงเจ้าเมืองเขมรองค์นั้นแต่ก่อนอยู่ในกรุงเทพมหานครถึง ๒๙ ปี ได้คุ้นเคยมากกับสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยามที่ ๔ แต่เดิมมา จึ่งได้ให้บุตรชายที่ ๒ ที่ ๓ ชื่อ นักพระองค์ศรีสวัสดิ์ นักพระองค์วรรถา เข้ามาทำราชการในกรุงเทพมหานครกับบุตรชายใหญ่

ครั้นปีมะเส็ง นพศก จุลศักราช ๑๒๑๙ (พ.ศ. ๒๔๐๐) มีคฤศต