หน้า:ประชุมพงศาวดาร (ภาค ๗๑) - ๒๔๘๑.pdf/15

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ยังไม่ได้พิสูจน์อักษร

พงศาวดารละแวก ฉะบับแปล จ.ศ. ๑๑๗๐

ณวันอังคารเดือน ๖ แรมค่ำหนึ่ง จุลศักราช (๑) ๑๑๗๐ ปีมะโรงนักษัตรสัมฤทธิศก (พ.ศ. ๒๓๕๑ ) ข้าพระพุทธ(๒) เจ้าพระองค์แก้ว นำเอาพระราชพงศาวดารกฎหมายเหตุ ลำดับสำหรับกษัตริย์เมืองละแวก(๓) เป็นหนังสือภาษากัมพุชพากย์ มาทูลเกล้า ฯ ถวาย ข้าพระพุทธเจ้า ขุนสารา (๔) บรรจง ปลัดกรมอาลักษณ์ กรมพระราชวังบวร ฯ แปล คัดออกจำลองลอกเป็นสยามภาษา ได้ใจความว่า เมื่อมหาศักราชได้ ๑๔๙๗ ปีชวดนักกษัตรสับตศก(๕) (พ.ศ. ๒๑๑๘) ยังมีกษัตริย์ ๒ พระองค์ ๆ หนึ่งได้เสวยราชสมบัติ ณ เมืองละแวก ทรงพระนามชื่อว่า สมเด็จ (๖) พระราชโองการ พระบรมราชารามาธิราชธิบดี พระองค์มีสมเด็จพระอนุชาธิราชพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามชื่อว่า สมเด็จพระศรี สุริโยพรรณ ตั้งอยู่เป็นที่อุปรราช(๗) ฝ่ายหลัง มีข้าราชการสำหรับที่พร้อม กษัตริย์ ๒ พระองค์เสวยราชสมบัติสืบสนองแทนพระราชวงศานุวงศ์ต่อเนื่องกันมา แต่ครั้งพระอัยกาและ (๘ ) พระอัยกี จนถึงพระบิดามารดาของพระองค์ ๆ ได้ราชสมบัติสืบต่อมา

(๑) ปีที่ ๒๗ ในรัชชกาลที่ ๑ (๒) เดิมเขียน พุทธิ (๓) เดิมเขียนแลวก (๔) เดิมเขียน ษารา (๕) ตรงกับรัชชกาลสมเด็จพระมหาธรรมราชา (๖) เดิมเขียน สมเดจ์ (๗) บางทีจะเขียนผิดแต่เดิม ตอนที่กล่าวถึงเหตุการณ์ในมหาศักราช ๑๕๒๐ มีคำว่าอุประยุรราชแห่งหนึ่ง และในหน้าสุดท้ายมีคำว่าอุปยูรราชอีกแห่งหนึ่ง บางที ๒ คำหลังนี้จะใกล้กับภาษาเขมรในต้นฉะบับ (๘) เดิมเขียนแลเป็นดังนี้ทุกแห่ง