หน้า:ประชุมพงศาวดาร (ภาค ๙) - ๒๔๖๑.pdf/15

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
(๑๔)

พอสิ้นฤดูฝนแล้ว จึงยกขึ้นไปตั้งอยู่ณเมืองแถง จัดการหัวเมืองสิบสองจุไทย ในเวลาเจ้าพระยาสุรศักดิมนตรีขึ้นไปจัดการคราวนั้น เรียกพวกท้าวพระยากรมการตามหัวเมืองมาประชุมกัน พระยาฤทธิรงค์รณเฉทจึงได้มีโอกาศถามคำให้การจดเรียบเรียงพงษาวดารเมืองไลแลเมืองแถงที่พิมพ์ไว้ในสมุดเล่มนี้

พงษาวดารเมืองเชียงแขงนั้น โปรดให้พระยาราชวรานุกูล (อ่วม) แต่ยังเปนพระยาศรีสิงหเทพ ถามท้าวพระยาเมืองเชียงแขงที่คุมต้นไม้ทองเงินเข้ามาทูลเกล้าฯ ถวายเมื่อปีขาล รัตนโกสินทรศก ๑๐๙ (พ.ศ. ๒๔๓๓)

เมืองเชียงแขงอยู่ในแว่นแคว้นไทยจำพวก ๑ ซึ่งเรียกว่า พวก "เขิน" คือ พวกเดียวกับชาวเชียงตุง อยู่ข้างเหนือมณฑลภาคพายัพ เดิมขึ้นพม่า เจ้าเมืองเชียงแขงมีก็อยู่ในสกุลวงษ์อันเดียวกันกับเจ้าเมืองเชียงตุง เจ้าเมืองเชียงแขงมีนามตามเกียรติยศที่พม่าตั้งว่า "เจ้าหม่อมมหาศรีสัพเพชังกูร พุทธพรหมวงษา" พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสันนิฐานว่า คือ "สรรเพชญ์พุทธางกูร" เหตุที่จะมาถวายต้นไม้ทองเงินสวามิภักดินั้น ด้วยเดิม เมืองเชียงแขงตั้งอยู่ข้างฝั่งตวันตกลำน้ำโขง ทำเลทำไร่นาอัตคัต เจ้าเมืองเชียงแขงจึงอพยพครอบครัวข้ามฟากมาตั้งอยู่ที่เมืองสิงห์ เวลานั้น เปนอาณาเขตรขึ้นในเมืองน่าน ด้วยเจ้าเมืองเชียงแขงเกี่ยวพันในเครือญาติวงษ์กับเจ้านายเมืองน่าน แล้วจึงสวามิภักดิขอเปนข้าขอบขัณฑสิมา