เมืองเชียงตุงซึ่งอยู่ต่อติดกับเมืองเชียงรุ้งทางด้านตวันตก ถ้าตัดกำลังเมืองเชียงตุงเสียแล้ว พม่าก็จะทำไมแก่เมืองเชียงรุ้งไม่ได้ เวลานั้น เมืองเชียงตุงมีเหตุเปนอริอยู่กับเมืองเชียงใหม่ด้วย จึงดำรัสสั่งให้มีตราเกณฑ์กองทัพเมืองเชียงใหม่ เมืองนครลำปาง เมืองลำพูน ให้พระยาอุปราชเมืองเชียงใหม่เปนแม่ทัพ ยกขึ้นไปตีเมืองเชียงตุงเมื่อปีรกา พ.ศ. ๒๓๙๒ ตีหัวเมืองรายทางเข้าไปได้จนถึงชานเมืองเชียงตุง แต่กองทัพไม่พรักพร้อมกัน แลไปขัดสนเสบียงอาหาร จึงต้องถอยทัพกลับมา ยังมิทันที่จะได้จัดการเรื่องเมืองเชียงรุ้งต่อไปประการใด พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต อุปราชาแลมหาไชยยังค้างอยู่ในกรุงเทพฯ จนถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้เสนาบดีปฤกษาการเรื่องเมืองเชียงรุ้งว่า จะควรทำอย่างไรต่อไป เสนาบดีปฤกษาเห็นพร้อมกันว่า กองทัพเมืองเชียงใหม่ยกขึ้นไปก็เกือบจะได้เมืองเชียงตุงอยู่แล้ว หากไปมีเหตุเกิดการบกพร่อง จึงต้องถอยทัพ ครั้งนี้ ควรจะให้ยกกองทัพใหญ่จากกรุงเทพฯ ขึ้นไปสมทบกับกองทัพหัวเมือง ระดมตีเมืองเชียงตุงให้การสำเร็จดังกระแสพระราชดำริห์ในรัชกาลที่ ๓ จึงได้โปรดให้กรมหลวงวงษาธิราชสนิท กับเจ้าพระยาภูธราภัย แต่ยังเปนเจ้าพระยายมราช ยกกองทัพขึ้นไป ความพิศดารเรื่องยกทัพคราวนั้นแจ้งอยู่ในหนังสือ "จดหมายเหตุ เรื่อง ทัพเชียงตุง" ซึ่งพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นไชยนาทนเรนทร โปรดให้พิมพ์แจกในงานศพนายพลเรือตรี พระยานาวาพลพยุหรักษ์ (ม.ร.ว.พิณ สนิทวงศ์ ณกรุงเทพ) เมื่อปีมโรง พ.ศ. ๒๔๕๙ นั้นแล้ว
หน้า:ประชุมพงศาวดาร (ภาค ๙) - ๒๔๖๑.pdf/4
หน้าตา