ข้ามไปเนื้อหา

หน้า:ประชุมพงศาวดาร (ภาค ๙) - ๒๔๖๑.pdf/5

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
(๔)

หนังสือพงษาวดารเมืองเชียงรุ้งที่พิมพ์ในสมุดเล่มนี้ จดตามคำให้การของมหาไชยเมื่อปีชวด พ.ศ. ๒๓๙๕ ในคราวเมื่อจะยกกองทัพไปตีเมืองเชียงตุงที่กล่าวมา

หนังสือพงษาวดารเมืองไล แลพงษาวดารเมืองแถง ๒ เรื่องนั้น นายพลตรี พระยาฤทธิรงค์รณเฉท (ศุข ชูโต) แต่ยังเปนนายจ่ายวด เปนนายพันตรีปลัดทัพขึ้นไปกับเจ้าพระยาสุรศักดิมนตรีเมื่อปีรกา พ.ศ. ๒๔๒๘ ได้ถามพวกท้าวขุนเมืองเหล่านั้น แล้วเรียบเรียงพงษาวดาร ๒ เรื่องนี้ขึ้นไว้เมื่อปีชวด พ.ศ. ๒๔๓๑ ในเวลาเปนที่พระพลัษฎานุรักษ์ ปลัดจางวางกรมมหาดเล็ก

เมืองไล เมืองแถง อยู่ในแว่นแคว้นสิบสองจุไทย กล่าวกันมาว่า แรกที่ชนชาติไทยจะอพยพลงมาสยามประเทศแต่ดึกดำบรรพ์ มาตั้งอยู่ที่แว่นแคว้นสิบสองจุไทยนี้ก่อน คำว่า สิบสองจุไทย ว่า ตรงกับ สิบสองเจ้าไทย เพราะแต่เดิมไทยที่ตั้งอยู่ในแว่นแคว้นนั้นอยู่แยกกันเปนสิบสองอาณาเขตร แม้ทุกวันนี้พวกพลเมืองที่อยู่ในที่นั้นก็เปนไทยโดยมาก เรียกกันว่า "ผู้ไทย" เขตรแดนท้องที่ ๆ พวกผู้ไทยอยู่ในแว่นแคว้นอันนี้กว้างขวาง ข้างเหนือไปจนถึงมณฑลฮุนหนำ แดนจีน ข้างตวันออกถึงมณฑลตังเกี๋ย แดนญวน ข้างตวันตกต่อแดนไทยสิบสองปันนาซึ่งขึ้นพม่าที่กล่าวมาแล้ว ข้างใต้ต่อกับกรุงศรีสัตนาคนหุต ซึ่งไทยพวกนี้เองได้ลงมาตั้งขึ้น เมื่อกรุงศรีสัตนาคนหุตมีอำนาจ จึงได้รวมแว่นแคว้นสิบสองจุไทยซึ่งเปน