หน้า:ประวัติฯ ศรีสุริยวงศฯ - ดำรง - ๒๔๗๒.pdf/17

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๑๐

ไม่รังเกียจการที่จะคบหาสมาคมและศึกษาวิชชาการกับพวกมิชชันนารี ในพวกสมัยใหม่ที่กล่าวนี้ ได้มาเป็นบุคคลสำคัญในชั้นหลัง ๔ คน คือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อยังทรงผนวช พอพระราชหฤทัยใคร่จะเรียนภาษาและหนังสืออังกฤษกับทั้งวิชชาต่าง ๆ มีโหราสาสตร์เป็นต้น พระองค์ ๑ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พอพระราชหฤทัยจะทรงเรียนวิชชาทหารเป็นที่ตั้ง ทั้งเรียนหนังสือเพื่อจะให้ทรงอ่านตำหรับตำราได้เอง พระองค์ ๑ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท ซึ่งได้ทรงศึกษาวิชชาแพทย์ไทยอยู่แล้ว ใคร่จะทรงศึกษาวิชชาแพทย์ฝรั่ง แต่ไม่ประสงค์จะทรงเรียนภาษาอังกฤษ พระองค์ ๑ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ เมื่อยังเป็นหลวงสิทธิ์ นายเวร ใคร่จะเรียนวิชชาต่อเรือกำปั่นเป็นสำคัญ และภาษาอังกฤษก็ดูเหมือนจะได้เรียนบ้าง[1] อีกคน ๑

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศเห็นจะได้เลื่อนบรรดาศักดิ์ขึ้นเป็นที่จมื่นวัยวรนาถ หัวหมื่นมหาดเล็ก เมื่อราวปีฉลู พ.ศ. ๒๓๘๔ ด้วยปรากฏในการทำสงครามกับญวนในปีนั้นว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวดำรัสให้จัดกองทัพเรือใช้เรือกำปั่นที่ต่อใหม่เป็นพื้น และโปรดให้พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อยังดำรงพระยศเป็นสมเด็จ


  1. จะรู้ภาษาอังกฤษเพียงใดทราบไม่ได้ ข้าพเจ้าเคยได้ยินท่านพูดภาษาอังกฤษกับฝรั่งครั้งหนึ่ง ดูเหมือนจะพอพูดสนทนาปราศัยได้ แต่การต่อเรือกำปั่น ท่านศึกษาจนชำนิชำนาญ ไม่มีตัวสู้ในสมัยของท่าน ได้เป็นผู้ต่อตลอดมาจนเรือกำปั่นไฟในรัชชกาลที่ ๔ และรัชชกาลที่ ๕