หน้า:ประวัติฯ ศรีสุริยวงศฯ - ดำรง - ๒๔๗๒.pdf/25

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๑๘

จึงได้ข้ามกลับไปอยู่ทางฟากธนบุรี แต่ไปสร้างจวนอยู่ใหม่ (ที่เรียกว่า โรงเรียนบ้านสมเด็จเจ้าพระยา อยู่ริมคลองสานบัดนี้) ที่จวนเดิมของบิดาท่าน ให้น้องอยู่

เรื่องประวัติของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศมามีเป็นตอนสำคัญปรากฏเมื่อครั้งสมเด็จพระราชินีวิกตอเรียประเทศอังกฤษให้เซอจอนเบาริงเป็นราชทูตเข้ามาขอทำหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีเมื่อปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๙๘ อธิบายเรื่องนี้ก็จะต้องกล่าวความย้อนถอยหลังขึ้นไปสักหน่อย คือ เมื่อในรัชชกาลที่ ๓ ไทยได้ทำหนังสือสัญญาค้าขายกับบริษัทอังกฤษซึ่งปกครองอินเดียเมื่อปีจอ พ.ศ. ๒๓๖๙ แล้วต่อมาทำหนังสือสัญญาเช่นเดียวกันกับรัฐบาลสหปาลรัฐอเมริกาเมื่อปีมะโรง พ.ศ. ๒๓๗๕ สัญญานั้นมีเนื้อความว่า ไทยยอมให้เรือกำปั่นของอังกฤษและอเมริกันเข้ามาค้าขายในพระราชอาณาเขตต์โดยสดวก ข้างอังกฤษและอเมริกันยอมให้ไทยเก็บค่าจังกอบตามขนาดปากเรือ ถ้าเป็นเรือบรรทุกสินค้าเข้ามาขาย ให้เก็บค่าจังกอบวาละ ๑,๗๐๐ บาท ถ้าเป็นเรือเปล่าเข้ามาซื้อสินค้า ไทยรับว่า จะไม่เรียกเก็บภาษาอย่างอื่นอีกเช่นนี้ ต่อมา พวกพ่อค้าอังกฤษและอเมริกันเกิดไม่พอใจ เหตุด้วยในสมัยนั้น การเก็บภาษีภายในใช้วิธีให้ผูกขาดอยู่เป็นพื้น[1] ก็วิธีภาษีผูกขาดอย่างโบราณนั้นมอบอำนาจให้เจ้าภาษี


  1. ภาษีผูกขาดในชั้นหลังเป็นแต่ชักส่วนสิ่งของซึ่งต้องภาษี เห็นจะแก้วิธีผูกขาดอย่างเดิมในรัชชกาลที่ ๔ เมื่อทำหนังสือสัญญากับต่างประเทศแล้ว.