หน้า:ประวัติฯ ศรีสุริยวงศฯ - ดำรง - ๒๔๗๒.pdf/26

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๑๙

ซื้อขายสินค้าสิ่งซึ่งตนรับผูกได้แต่คนเดียว ใครมีสินค้าสิ่งนั้นจะขาย ก็ต้องขายแก่เจ้าภาษี ใครจะต้องการซื้อ ก็ต้องมาซื้อไปจากเจ้าภาษี ยังสินค้าซึ่งเป็นของมีราคามาก ดังเช่น นอแรด งาช้าง และดีบุก เป็นต้น ก็ผูกขาดเป็นของหลวง ขายซื้อได้แต่ที่พระคลังสินค้าแห่งเดียว นอกจากวิธีภาษีผูกขาดดังกล่าวมา ในสมัยนั้นทั้งในหลวงและเจ้านายขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อยยังทำการค้าขายเองตามประเพณีซึ่งมีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา คือ แต่งเรือไปซื้อขายสินค้าถึงนานาประเทศบ้าง เช่าระวางเรือผู้อื่นฝากสินค้าไปมาบ้าง และผู้พาสินค้าเข้าออกยังต้องเสียภาษีอีกชั้นหนึ่ง พวกพ่อค้าฝรั่งกล่าวหาว่า รัฐบาลเก็บค่าจังกอบแล้วยังแย่งค้าขายและให้ผูกขาดเก็บภาษีโดยทางอ้อม ไม่ทำตามหนังสือสัญญา ข้างฝ่ายไทยเถียงว่า ไม่ได้ทำผิดสัญญา เพราะพวกพ่อค้าแขกและจีนก็ต้องเสียภาษีขาเข้าขาออกอยู่อย่างเดิม พวกฝรั่งมาขอเปลี่ยนเป็นเสียค่าจังกอบตามขนาดปากเรือ ก็อนุญาตให้ตามประสงค๋ เมื่อไม่สมัครเสียค่าปากเรือ จะเสียภาษีขาเข้าขาออกอย่างเดียวกับพวกพ่อค้าแขกและจีนก็ได้ จะยอมตามใจสมัคร อีกประการหนึ่ง ในหนังสือสัญญาก็ไม่ได้รับว่า จะเลิกภาษีผูกขาดและการค้าขายของหลวง หรือไม่อนุญาตให้เจ้านายข้าราชการค้าขาย จะว่าผิดสัญญาอย่างไรได้ เป็นข้อถุ้มเถียงกันมาดังนี้ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๓ รัฐบาลอเมริกันให้นายบัลเลศเตียเป็นทูตมาขอแก้หนังสือสัญญาเมื่อต้นปี ก็ไม่ตกลงกัน ต่อมาในปีจอนั้นเอง รัฐบาลเมืองอังกฤษ[1] แต่งให้เซอเชมสบรุกเป็นทูตเข้ามาขอแก้


  1. แต่ก่อนนั้นเป็นแต่พูดจาและทำสัญญากับบริษัทอังกฤษที่ปกครองอินเดีย พึ่งจะจับเกี่ยวข้องตรงกับรัฐบาลที่ประเทศอังกฤษแต่ครั้งนี้.