หน้า:ประวัติฯ ศรีสุริยวงศฯ - ดำรง - ๒๔๗๒.pdf/27

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๒๐

หนังสือสัญญา แต่มาประจวบเวลาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประชวรเมื่อคราวจะเสด็จสวรรคต พระราชทานกระแสพระราชดำริออกมาให้ข้าราชการผู้ใหญ่ปรึกษาหารือกันว่ากล่าวเจรจากับเซอเชมสบรุก ที่สุดก็ไม่คกลงกันได้อีก เซอเชมสบรุกต้องกลับไปเปล่า แต่เหตุการณ์ในครั้งนี้ผิดกับคราวเฮนรีเบอนีเป็นทูตของบริษัทอังกฤษที่ปกครองอินเดียเข้ามาทำหนังสือสัญญาเมื่อปีจอ พ.ศ. ๒๓๖๙ ด้วยเดิมมา จีนก็ไม่ยอมทำหนังสือสัญญาค้าขายกับต่างประเทศ จนเกิดรบกับอังกฤษเมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๕ จีนแพ้ ต้องยอมทำหนังสือสัญญา จึงเป็นเหตุให้ฝรั่งได้ใจ เห็นว่า ต้องใช้อำนาจจึงจะให้พวกชาวประเทศตะวันออกยอมทำหนังสือสัญญาค้าขายตามประสงค์ได้ เซอเชมสบรุกกลับไปคราวนั้น ความปรากฏว่า ไปเสนอต่อรัฐบาลอังกฤษขอให้ส่งกองทัพเรือเข้ามาบังคับไทยให้ทำหนังสือสัญญาอย่างเดียวกับจีน แต่ผเอิญประจวบเวลาทางเมืองไทยเปลี่ยนรัชชกาลใหม่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติปีกุน พ.ศ. ๒๓๙๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชดำริโดยพระปรีชาญาณเห็นมาแต่เมื่อยังทรงผนวชอยู่ว่า เหตุการร์ทางประเทศตะวันออกไม่เหมือนแต่ก่อน ด้วยฝรั่งกลับมามีอำนาจขึ้น ซึ่งจะไม่ยอมแก้หนังสือสัญญานั้นไม่ได้ ฝ่ายข้างอังกฤษมาถึงสมัยนี้ได้เกาะฮ่องกงของจีนมาตั้งเป็นเมืองขึ้น รัฐบาลอังกฤษจึงมอบอำนาจให้เซอจอนเบาริง เจ้าเมืองฮ่องกง เป็นผู้มาจัดการทำหนังสือสัญญากับไทยให้สำเร็จ เซอจอนเบาริงทราบว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงศึกษาสันทัดภาษาอังกฤษ และมีพระราชอัธยาศัยกว้างขวาง จึงมีจดหมายเข้ามาทำทางพระราชไมตรีให้มีต่อส่วน