หน้า:ประวัติฯ ศรีสุริยวงศฯ - ดำรง - ๒๔๗๒.pdf/30

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๒๓

เรือของอังกฤษว่า จะควรทำอย่างไรต่อไป ที่การปรึกษาสำเร็จได้ครั้งนั้นเพราะสติปัญญาบุคคลแต่ ๒ คน คือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว[1] พระองค์ ๑ กับสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ องค์ ๑ แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นพระเจ้าแผ่นดิน จะเข้าทรงปรึกษาว่ากล่าวเองไม่ถนัด ได้แต่คอยทรงอำนวยการและแนะนำ อย่างว่า "อยู่ข้างหลังฉาก" ในจดหมายเหตุของเซอจอนเบาริงกล่าวว่า สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศเป็นตัวผู้ที่ได้เข้าพูดจาว่ากล่าวกับทูตอังกฤษ ทั้งเมื่อเวลาประชุมข้าหลวงปรึกษาสัญญาณะจวนสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ หลาย ๆ วันประชุมกันครั้งหนึ่ง และไปพูดจาปรึกษาหารือกับเซอจอนเบาริงเป็นอย่างส่วนตัวเองแทบทุกวัน พระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในครั้งนั้นทรงพระราชดำริว่า ความข้อใดซึ่งเห็นว่า อังกฤษคงจะเอาให้จงได้ ยอมให้เสียโดยดี แลกเอาข้อที่ไทยต้องการจะให้เขาลดหย่อนผ่อนผันให้ดีกว่า[2] เพราะ


  1. พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เซอจอนเบาริงว่า ไม่ได้ทรงเกี่ยวข้องในการปรึกษาทีเดียว เพราะเกรงใจสมเด็จเจ้าพระยาทั้งสอง.
  2. อุทาหรณ์ในข้อนี้ ตามที่ได้ยินเล่ากันมาว่า เดิมอังกฤษจะขอที่ตั้ง "ฟอเรนคอนเซสชัน" อย่างเช่นได้ตั้งในเมืองจีน คือ เป็นอาณาเขตต์สำหรับพวกฝรั่งอยู่และปกครองกันเองแห่งหนึ่งต่างหาก จะเป็นที่ช่องนนทรีหรือที่อ่างศิลาแห่งใดแห่งหนึ่งนี้ไม่ทราบแน่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรังเกียจ เซอจอนเบาริงก็ยอมตามพระราชประสงค์ จึงมิได้มีเมืองฝรั่งตั้งขึ้นในเมืองไทยอย่างเช่นที่เมืองเซี่ยงไฮ้และเมืองเทียนสิน