หน้า:ประวัติฯ ศรีสุริยวงศฯ - ดำรง - ๒๔๗๒.pdf/31

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๒๔

อย่างไร ๆ ก็ต้องทำหนังสือสัญญา จึงจะพ้นเหตุเภทภัยแก่บ้านเมือง ครั้งนั้น สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศเป็นผู้อยู่กลางในระวางทูตอังกฤษกับสมเด็จเจ้าพระยาทั้งสอง แต่สามารถเข้าได้สนิททั้งสองฝ่าย จนเซอจอนเบาริงชมไว้ในจดหมายรายวันซึ่งเขียนในระวางเวลาเมื่อปรึกษาสัญญากันอยู่นั้นแห่ง ๑ เขียนเมื่อวันที่ ๗ เมษายน ค.ศ. ๑๘๕๕ (พ.ศ. ๒๓๙๘) ว่า "เจ้าพระยาศรีสุริยวงศคนนี้ ถ้าไม่เป็นเจ้ามารยาอย่างยอด ก็เป็นคนรักบ้านเมืองของตนอย่างยิ่ง แต่จะเป็นเจ้ามารยาหรือเป็นคนรักบ้านเมืองก็ตาม ต้องยอมว่า ฉลาดล่วงรู้การล้ำคนทั้งหลายที่เราได้มาพบในที่นี้ ทั้งมีกิริยาอัชฌาสัยสุภาพอย่างผู้ดี และรู้จักพูดจาพอเหมาะแก่การ" อีกแห่ง ๑ เขียนเมื่อวันที่ ๑๓ เมษายน ว่า "อัธยาศัยของอัครมหาเสนาบดี (คือ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ) นั้น น่าสรรเสริญมาก ท่านได้กล่าวแก่เราหลายครั้งว่า ถ้าเรามีความมุ่งหมายจะช่วยประชาชนให้พ้นความกดขี่ และช่วยบ้านเมืองให้พ้นภาษีผูกขาด ซึ่งเอาประโยชน์ของบ้านเมืองไปเป็นส่วนบุคคลนั้น ก็จะช่วยเราเหนื่อยด้วย และถ้าเราทำการสำเร็จ ชื่อเสียงของเราก็จะเป็นที่ยกย่องต่อไปชั่วกาลนาน ท่านเล่าให้เราทราบความบกพร่องต่าง ๆ โดยมิได้ปิดบังเลย และบางคราวพูดอย่างโกรธเกรี้ยว (ไม่พอใจในการที่เป็นอยู่) ถ้าท่านผู้นี้มีใจจริงดังปากว่า ก็ต้องนับว่า เป็นคนรักบ้านเมืองและฉลาดเลิศที่สุดคนหนึ่งในเหล่าประเทศตวันออกนี้ อนึ่ง การใช้เงินนั้น ท่านเป็นผู้ไม่ตระหนี่ กล่าวว่า เงินทำให้ร้อนใจ จึงใช้สอยเสียอย่างไม่เบียดกรอเลย ส่วนความยากซึ่งมีในฐานะของตัวท่านนั้น ท่านก็ชี้แจงให้เราทราบหมด แม้ความลำบากเกี่ยวกับผู้ที่อยู่ในสกุลเดียวกัน