หน้า:ประวัติฯ ศรีสุริยวงศฯ - ดำรง - ๒๔๗๒.pdf/32

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๒๕

(เห็นจะหมายความว่า สมเด็จเจ้าพระยาทั้งสององค์) ก็ไม่ปกปิด คำเซอจอนเบาริง[1] ส่อให้เห็นความสามารถฉลาดหลักแหลมของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศเพียงไรในสมัยนั้น พอทำหนังสือสัญญากับอังกฤษแล้ว ในปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๙๘ นั้นเอง สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศก็ถึงพิราลัย ต่อมาอีก ๒ ปี สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติก็ถึงพิราลัยในปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๐๐ แต่นั้น เจ้าพระยาศรีสุริยวงศก็เป็นตัวหัวหน้าเสนาบดีทั้งปวงทั้งโดยตำแหน่งและโดยความสามารถในราชการงานเมืองทั่วไป[2]

ตั้งแต่อังกฤษเข้ามาทำหนังสือสัญญาสำเร็จแล้ว ต่อมาอีกปีหนึ่ง อเมริกันและฝรั่งเศสก็เข้ามาขอทำหนังสือสัญญาบ้าง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริโดยพระปรีชาญาณเห็นการอันเป็นข้อสำคัญอีกอย่างหนึ่งว่า ไหน ๆ ก็จำต้องทำสัญญากับฝรั่งแล้ว ทำสัญญาเสียให้หลายชาติด้วยกัน ความเป็นอิศรภาพของบ้านเมืองก็จะมั่นคง ดีกว่าให้ฝรั่งแต่ชาติหนึ่งชาติเดียวเข้ามามีอำนาจ เพราะฉะนั้น เมื่อชาติไหนมาขอทำหนังสือสัญญา ก็โปรดฯ ให้รับทำด้วย เป็นพระบรมราโชบายมา


  1. กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ทรงช่วยแปลคำเซอจอนเบาริงที่พิมพ์ไว้ในนี้จากภาษาอังกฤษ
  2. เจ้าพระยานิกรบดินทร์เป็นที่สมุหนายกยังอยู่ แต่แก่ชรา อายุถึง ๘๐ ปี ไม่สามารถรับราชการเสียแล้ว กรมหลวงวงศาธิราชสนิทได้ทรงกำกับราชการกระทรวงมหาดไทย