หน้า:ประวัติฯ ศรีสุริยวงศฯ - ดำรง - ๒๔๗๒.pdf/33

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๒๖

ตลอดในรัชชกาลที่ ๔ เป็นแต่ระวังมิให้เสียเปรียบกว่าสัญญาที่ทำมาแล้ว การที่ทำหนังสือสัญญากับฝรั่งต่างชาติครั้งนั้น เป็นเหตุให้ต้องแก้ไขเปลี่ยนแปลงกิจการบ้านเมืองหลายอย่าง เป็นต้นว่า วิธีเก็บภาษีภายใน ต้องเลิกผูกขาดซื้อขายอย่างแต่ก่อน เปลี่ยนวิธีเก็บชักส่วนตามจำนวนสินค้าแล้วแต่ใครจะค้าสิงใดก็ได้ และต้องตั้งภาษีต่าง ๆ ขึ้นใหม่อีกหลายอย่างทดแทนจำนวนเงินผลประโยชน์แผ่นดินที่ขาดไปเพราะเลิกภาษีผูกขาด[1] ส่วนการทดแทนผลประโยชน์ของเจ้านายและข้าราชการทั้งพ่อค้าที่ต้องขาดไปเพราะทำหนังสือสัญญากับฝรั่งนั้น ก็แก้ไขด้วยให้พวกพ่อค้า (ซึ่งเป็นเชื้อจีนโดยมาก) เข้ารับเป็นเจ้าภาษีนายอากรที่ตั้งขึ้นใหม่ และแจกการควบคุมภาษีนั้น ๆ ให้ขึ้นอยู่ในกระทรวงต่าง ๆ ผู้มีบรรดาศักดิ์ซึ่งขาดประโยชน์เป็นเจ้ากระทรวงอยู่โดยมาก ก็ได้รับส่วนแบ่งจากเงินภาษีอากรที่ตนได้ควบคุมนั้น[2] ยังการที่ต้องคิดป้องกันมิให้ชาวเมืองเกิดอดอยากเพราะฝรั่งมาซื้อเข้าเอาไปเสียนั้น ก็ต้องคิดอ่านบำรุงการกสิรกรรมและพาณิชยกรรมให้เพิ่มพืชผลขึ้นให้พอแก่การค้าขาย จึงเกิดความคิดขุดคลองมหาสวัสดิ์ คลองภาษีเจริญ เพิ่มทางคมนาคมและเบิกที่ให้คนทำไร่นามากขึ้น นอกจากที่ได้กล่าวมา เมื่อปีระกา พ.ศ. ๒๔๐๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า


  1. เจ้าพระยาทิพากรวงศบอกรายชื่อภาษีซึ่งตั้งใหม่ไว้ในพระราชพงศาวดาร รัชชกาลที่ ๔ ว่า ๑๔ อย่าง และแก้ไขเลิกถอนภาษีเดิมบ้าง
  2. ที่การเก็บภาษีอากรแยกขึ้นอยู่ในกระทรวงต่าง ๆ ในรัชชกาลที่ ๔ เป็นด้วยเหตุดังกล่าวมา เพราะในสมัยนั้น ประเพณีที่เสนาบดีได้เงินเดือนตามตำแหน่งยังไม่เกิดขึ้น