หน้า:ประวัติ - ปิติ วาทยะกร - ๒๕๑๒.pdf/10

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้ตรวจสอบแล้ว

อาจารย์ลีลีคนนี้เป็นผู้มีคุณวุฒิชำนิชำนาญในทางวิชาดนตรี และเป็นกวีในทางนิพนธ์บทเพลงบทละครโอเปราเป็นต้น ทั้งทราบว่า เป็นคนโปรดของสมเด็จพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ด้วย เจ้าคุณราชทูตจึงได้ต้อนรับท่านอาจารย์อย่างแข็งแรง ทั้งได้เชิญให้อยู่รับประทานอาหารด้วยกัน (ผู้แปลหนังสือเรื่องราชทูตไทยนี้เคยได้ยินผู้ใหญ่ซึ่งเป็นคนน่าเชื่อกล่าวกันหลายปากว่า บทสรรเสริญพระบารมี คือ เพลงชาติไทยซึ่งร้องกันทุกวันนี้ เป็นเพลงที่ท่านอาจารย์ลีลีได้ผูกไว้เป็นเพลงตามแบบดนตรีฝรั่ง โดยเอาบทเพลงไทยเก่าเป็นเค้ามูล แต่เสียดาย จนป่านนี้ยังหาหลักฐานประกอบคำว่า สืบ ๆ กันมา นี้ยังไม่ได้)

วันที่ข้าพเจ้าได้ทำหน้าที่เป็นเฒ่าแก่ไปสู่ขอธิดาของคุณพระเจนดุริยางค์นั้น หลังจากที่ได้กล่าวคำทักทายปราศรัยอย่างธรรมดาแล้ว สิ่งแรกข้าพเจ้าก็ได้ถามขึ้นทันทีว่า ท่านพอจะให้ความสว่างกับข้าพเจ้าถึงชื่อผู้แต่งเพลงสรรเสริญพระบารมีของไทยเราได้หรือไม่ ข้าพเจ้าได้เล่าให้ท่านฟังว่า หลังจากที่ได้อ่านข้อสันนิษฐานของภราเธอร์ฮีแลร์แล้ว ก็ยังไม่เห็นมีหลักฐานอะไรเพียงพอที่จะคิดว่า ท่านลีลีจะเป็นผู้แต่งเพลงนี้ เพราะเมื่อข้าพเจ้ายังเรียนวิชาวิศวกรรมศาสตร์อยู่สำนัก Battersea Polytechnic ที่กรุงลอนดอน ก็มีเพื่อนชาวอังกฤษคนหนึ่งซึ่งเป็นผู้เอาใจใส่เกี่ยวกับการแต่งเพลงต่าง ๆ แล้วเขาเองก็ได้อุตส่าห์ไปค้นเรื่องราวเกี่ยวกับท่านลีลีผู้นี้ ก็ไม่ปรากฏหลักฐานว่า ท่านได้แต่งเพลงอะไรสำหรับประเทศไทย หรือได้แนะนำอะไรให้กับท่านราชทูตโกษาปานเลย เมื่อเป็นเช่นนี้ ข้าพเจ้าจึงขอถาม เผื่อคุณพระเจนดุริยางค์จะมีความรู้ความเห็นอะไรเพิ่มเติมนอกเหนือจากนี้ขึ้นไป ซึ่งท่านก็ได้เล่าให้ฟังทันที เหมือนดังที่ท่านได้บันทึกไว้ในเรื่องความทรงจำของท่าน ซึ่งข้าพเจ้าจะไม่ขอนำมา

– 8 –