หน้า:ปัญญาส (๑๙) - ๒๔๗๑.pdf/4

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว

ประเสริฐฯ ต้องทนความลำบากอยู่ถึง ๙ ปี เพราะข้าพเจ้าหาตัวเปลี่ยนไม่ได้ จึงรู้สึกว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้ทำให้พระยาประเสริฐฯ ได้ความเดือดร้อน แม้โดยมิได้เจตนา เมื่อพระยาประเสริฐฯ มาถึงอนิจกรรมลง และเจ้าภาพมาขอให้ช่วยเลือกหาเรื่องหนังสือ จึงเต็มใจที่จะทำให้ และกล่าวความที่เคยเกี่ยวข้องกันลงไว้ให้ปรากฎ เหมือนหนึ่งได้สนองคุณพระยาประเสริฐฯ บ้างเล็กน้อย ส่วนหนังสือที่จะพิมพ์นั้น ข้าพเจ้าได้เลือกปัญญาสชาดกให้พิมพ์ ด้วยเป็นหนังสือซึ่งกรรมการมุ่งหมายจะให้มีบริบูรณ์ในวรรณคดีของไทย อนุโลมเข้าในนิบาตชาดกอันพิมพ์ขึ้นโดยพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

อันหนังสือปัญญาสชาดกนี้ คือ ประชุมนิทานเก่าแก่ที่เล่ากันในเมืองไทยแต่โบราณ ๕๐ เรื่อง[1] พระสงฆ์ชาวเชียงใหม่รวบรวมแต่งเป็นชาดกไว้ในภาษาบาลี เมื่อพระพุทธศักราชประมาณราวในระวาง ๒๐๐๐ จนถึง ๒๒๐๐ ปี อันเป็นสมัยเมื่อพระสงฆ์ชาวประเทศนี้พากัน


  1. หนังสือปัญญาสชาดกนี้ ตามที่ได้ตรวจฉะบับ มีลักษณะแผกกันเปน ๒ อย่าง อย่างหนึ่งเรียกว่า "ปัญญาสชาดกบั้นปลาย" แต่ไม่ปรากฎว่ามี "บั้นต้น" อีกอย่างหนึ่งเรียกว่า "ปัญญาสชาดกปฐมภาค (คือ ภาคแรก) คัมภีร์" ๑ "ปัญญาสชาดกปัจฉิมภาค (คือ ภาคหลัง) คัมภีร์" ๑ ปัญญาสชาดกบั้นปลายมีอยู่ดาษดื่นทั่วไป แต่ปัญญาสชาดกปฐมภาคกับปัจฉิมภาคนั้นหาฉะบับยาก แต่แรกอ่านดูเข้าใจว่า ปัญญาสชาดกบั้นปลายกับปัญญาสชาดกปัจฉิมภาคเปนคัมภีร์เดียวกัน ครั้นตรวจสอบกันเข้า ตรงกันข้าม ปัญญาสชาดกบั้นปลายกลับตรงกันกับปัญญาสชาดกปฐมภาค ไปจบคัมภีร์เพียง ๕๐ นิทาน จึงสันนิษฐานว่า คงเปนด้วยชั้นเดิมผู้แต่งปัญญาสชาดกบั้นปลายมุ่งหมายจะให้อนุโลมเข้าใจปัญญาสนิบาต ภายหลังมีผู้แต่งนิทานเพิ่มเข้าอีก ๒๕ เรื่อง และมุ่งหมายจะให้เปนหนังสือส่วนหนึ่งต่างหาก ไม่อนุโลมเข้าในนิบาต จึ่งเปลี่ยนชื่อ ปัญญาสชาดกบั้นปลาย เปน ปัญญาสชาดกปฐมภาค ส่วนที่แต่งเติมเข้าใหม่เรียกว่า ปัญญาสชาดกปัจฉิมภาค.
    พระพินิจวรรณการ