หน้า:ปัญญาส (๑๙) - ๒๔๗๑.pdf/6

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว

คำนำหนังสือนิบาตชาดกภาคต้นซึ่งโปรดให้พิมพ์เมื่อในรัชชกาลที่ ๕ ว่า เรื่องนิบาตชาดกนั้น คงเป็นนิทานที่เล่ากันในพื้นเมือง มีมาแต่ก่อนพุทธกาลช้านาน เมื่อพระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนเวไนยสัตว์ ทรงยกเอาเรื่องนิทานมาแสดงเป็นอุปมาในพระธรรมเทศนาเนือง ๆ ก็ธรรมดาในเรื่องนิทานย่อมต้องมีตัวดีและตัวชั่ว ตัวดีจะเป็นคนก็ตาม จะเป็นสัตว์เดียรัจฉานก็ตาม ย่อมเรียกว่า "มหาสัตว์" มาเกินสมมตขึ้นต่อภายหลังพุทธกาลว่า มหาสัตว์ในเรื่องชาดกนั้นคือพระพุทธเจ้าในอดีตชาติ ครั้นเมื่อมาตบแต่งร้อยกรองพระไตรปิฎกกันในชั้นหลัง ๆ ผู้แต่งประสงค์จะปลูกศรัทธาให้มั่งคงตามความเชื่อถือของตน จึงแต่งประชุมชาดกประหนึ่งว่า พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงไว้ชัดเจนว่า มหาสัตว์นั้น ๆ มาเกิดเป็นพระพุทธองค์ และบุคคลหรือสัตว์นั้น ๆ มาเป็นผู้นั้นผู้นี้ในปัจจุบันชาติ รูปเรื่องชาดกจึงเป็นเช่นปรากฎอยู่ในหนังสือนิบาตชาดก เพราะความเป็นดังอธิบายมานี้ ที่พระสงฆ์ชาวเชียงใหม่เอานิทานในพื้นเมืองมาแต่งเป็นชาดก เป็นแต่แต่งตามแบบอย่างหนังสือเก่าซึ่งพระคันถรจนาจารย์ได้แต่งมาแต่ปางก่อน หาได้ตั้งใจจะหลอกลวงผู้หนึ่งผู้ใดว่าเป็นพระพุทธวจนะไม่ พระเจ้าแผ่นดินพะม่าหากเข้าพระทัยหลงไปเอง

นิทานในปัญญาสชาดกเป็นนิทานที่ไทยเรารู้กันอยู่ซึมทราบหลายเรื่อง เช่น เรื่องสมุทโฆษ เรื่องพระสุธนนางมโนหรา เรื่องสังข์ทอง เรื่องคาวี เรื่องพระรถเสน เป็นต้น เรื่องสุวรรณสังขชาดกที่พิมพ์ในสมุดเล่มนี้ก็มีผู้เอามาแต่งเป็นกลอนอ่าน เรียกว่า เรื่องสังข์ทอง การที่เอาหนังสือปัญญาสชาดกมาแปลพิมพ์จะเป็นประโยชน์สอบสวนให้รู้