สุนทรฯ เห็นว่า ท้าวสุย บุตรราชบุตร เป็นคนสัตย์ซื่อมั่นคง พระสุนทรฯ จึงบอกขอรับพระราชทานให้ท้าวสุยเป็นที่พระศรีวรราช ขึ้นมารับราชการกับพระสุนทรฯ เจ้าเมือง อยู่ได้ประมาณ ๔–๕ ปี ราชบุตร (กันยา) พระศรีวรราช (สุย) ถึงแก่กรรมไป ยังหาทันได้เผาศพไม่ ครั้นถึงปีมะเส็ง ตรีนิศก ศักราช ๑๒๔๓ อุปฮาด (บา) ถึงแก่กรรมไปอีก จึงบอกขอรับพระราชทานหีบศิลาหน้าเพลิงขึ้นมาเผาศพอุปฮาด (บา)
ครั้นต่อมาถึงณปีมะแม เบญจศก ศักราช ๑๒๔๕ อ้ายฮ่อยกกองทัพมาตั้งอยู่ทุ่งเชียงคำ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรุงเทพฯ มีตราพระราชสีห์โปรดเกล้าฯ ให้พระยาราชวรานุกูลเป็นแม่ทัพขึ้นมาตีทัพอ้ายฮ่กอยู่ณทุ่งเชียงคำ พระยาราชวรานุกูลจึงมีหนังสือแต่งให้หลวงอภัยพิพิธเป็นข้าหลวงมาเกณฑ์เอาช้างม้าโคต่างเมืองยโสธรบรรทุกเข้าน้ำลำเลียงไปเลี้ยงกองทัพพระยาราชวรานุกูลอยู่ทุ่งเชียงคำ พระสุนทรฯ (สุพรม) จึงแต่งให้ราชวงศ์ (ฮู่) แต่ยังเป็นสุริยง เป็นนายคุมเอาช้างม้าโคต่างบรรทุกเข้าลำเลียงขึ้นไปเลี้ยงกองทัพณทุ่งเชียงคำ ยังหาทันเสร็จไม่ พระยาราชวรานุกูลจึงพาแม่ทัพนายกองกลับคืนมาตั้งอยู่ณเมืองหนองคาย