หน้า:พรบ ควบคุมขอทาน ๒๕๕๙.pdf/5

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว

เล่ม ๑๓๓ ตอนที่ ๓๘ ก

๒๙ เมษายน ๒๕๕๙
หน้า ๕
ราชกิจจานุเบกษา

ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นในเขตพื้นที่ประกาศเป็นการทั่วไปเพื่อกำหนดเขตพื้นที่หรือสถานที่ใดอันเป็นที่สาธารณะ วันเวลา การใช้อุปกรณ์ หรือสิ่งอื่นใด ให้ใช้ในการแสดงความสามารถ

ผู้ใดกระทำการฝ่าฝืนตามวรรคหนึ่ง พนักงานเจ้าหน้าที่หรือเจ้าพนักงานท้องถิ่นในเขตพื้นที่มีอำนาจสั่งให้ผู้นั้นหยุดหรือเลิกกระทำการดังกล่าวได้

มาตรา ๑๕ เมื่อปรากฏต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ว่า มีผู้ใดกระทำการฝ่าฝืนมาตรา ๑๓ วรรคหนึ่ง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ส่งตัวผู้ซึ่งฝ่าฝืนนั้นไปยังสถานคุ้มครองและพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อทำการคัดกรอง และหากการคัดกรองพบว่า ผู้ทำการขอทานเป็นเด็ก หญิงมีครรภ์ ผู้สูงอายุ คนวิกลจริต คนพิการหรือทุพพลภาพ ที่ต้องดำเนินการตามกฎหมายเฉพาะ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายเฉพาะเพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป

มาตรา ๑๖ เมื่อปรากฏจากการคัดกรองว่า ผู้ทำการขอทานไม่ใช่บุคคลตามมาตรา ๑๕ แต่เป็นบุคคลซึ่งไม่สามารถประกอบอาชีพได้ ไม่มีญาติมิตรอุปการะเลี้ยงดู และไม่มีทางเลี้ยงชีพอย่างอื่น หรืออยู่ในสภาวะยากลำบาก ให้พนักงานเจ้าหน้าที่จัดให้บุคคลดังกล่าวเข้ารับการคุ้มครองและพัฒนาคุณภาพชีวิตตามพระราชบัญญัตินี้

การเข้ารับการคุ้มครองและพัฒนาคุณภาพชีวิตตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด

มาตรา ๑๗ ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นหรือเป็นการสมควรเพื่อประโยชน์ของผู้ทำการขอทาน พนักงานเจ้าหน้าที่จะไม่ส่งตัวผู้นั้นไปเพื่อดำเนินการตามกฎหมายเฉพาะ และให้ผู้ทำการขอทานผู้นั้นได้รับการคุ้มครองและพัฒนาคุณภาพชีวิตตามพระราชบัญญัตินี้ต่อไปก็ได้

มาตรา ๑๘ ในกรณีผู้ทำการขอทานยอมปฏิบัติตามการดำเนินการของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายเฉพาะ หรือยอมอยู่ในสถานคุ้มครองและพัฒนาคุณภาพชีวิต ให้ผู้ทำการขอทานผู้นั้นพ้นจากความผิดตามมาตรา ๑๙

มาตรา ๑๙ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๓ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๒๐ กรณีผู้ทำการขอทานได้ยอมเข้ารับการคุ้มครองและพัฒนาคุณภาพชีวิตในสถานคุ้มครองและพัฒนาคุณภาพชีวิตแล้ว ต่อมาผู้ทำการขอทานผู้นั้นไม่ยอมรับการคุ้มครองและพัฒนาคุณภาพชีวิต และได้ออกไปจากสถานคุ้มครองและพัฒนาคุณภาพชีวิตโดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๒๑ ผู้ใดกระทำด้วยประการใดอันเป็นการช่วยเหลือหรือสนับสนุนให้มีการฝ่าฝืนมาตรา ๒๐ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งได้กระทำโดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือโดยมีหรือใช้อาวุธ ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสี่ปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ