หน้า:พรบ ความร่วมมือฯ สิทธิควบคุมดูแลเด็ก ๒๕๕๕.pdf/6

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว

เล่ม ๑๓๐ ตอนที่ ๒ ก

๙ มกราคม ๒๕๕๖
หน้า ๖
ราชกิจจานุเบกษา

(๓) กรณีที่ปรากฏว่า เด็กได้ออกไปจากประเทศไทยแล้ว ศาลอาจให้รอการพิจารณาไว้ หรือยกคำร้องขอก็ได้

(๔) ศาลอาจยกคำร้องขอให้ส่งตัวเด็กกลับคืน ในกรณีดังต่อไปนี้

 (ก) ผู้มีสิทธิควบคุมดูแลเด็กมิได้ควบคุมดูแลเด็กในขณะที่มีการพาตัวเด็กหรือกักตัวเด็กไว้ หรือได้ให้ความยินยอมในตอนแรกหรือยอมรับในภายหลังให้มีการพาตัวเด็กหรือกักตัวเด็กไว้

 (ข) การส่งตัวเด็กกลับคืนอาจเป็นอันตรายต่อร่างกายหรือจิตใจของเด็กอย่างร้ายแรง หรือเด็กจะตกอยู่ในสภาวะอันไม่อาจทนได้

 (ค) เด็กคัดค้านการส่งตัวเด็กกลับคืน และศาลเห็นว่า เด็กมีอายุและวุฒิภาวะที่ควรจะรับฟังคำคัดค้านนั้น

 (ง) การส่งตัวเด็กกลับคืนจะขัดกับหลักพื้นฐานของประเทศไทยที่เกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน

 (จ) เด็กอายุครบสิบหกปีบริบูรณ์

ให้ศาลนำข้อมูลเกี่ยวกับเด็กตามที่ผู้ประสานงานกลางหรือเจ้าหน้าที่แห่งท้องที่ที่เด็กมีถิ่นที่อยู่ปกติเสนอ มาประกอบการพิจารณาในการออกคำสั่งด้วย

มาตรา ๑๔ ในกรณีที่ศาลมิได้มีคำสั่งตามคำร้องขอภายในหกสัปดาห์นับแต่วันรับคำร้องขอให้ส่งตัวเด็กกลับคืน เมื่อได้รับคำขอจากผู้ร้องขอหรือผู้ประสานงานกลางของรัฐที่ร้องขอ ผู้ประสานงานกลางหรือพนักงานอัยการอาจขอทราบข้อเท็จจริง แล้วแจ้งให้ผู้ร้องขอหรือผู้ประสานงานกลางของรัฐที่ร้องขอทราบ

มาตรา ๑๕ ในกรณีที่มีการร้องขอให้ส่งตัวเด็กกลับคืนและมีข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิควบคุมดูแลเด็กด้วย หากศาลพิจารณาสั่งไม่ส่งตัวเด็กกลับคืนแล้ว จึงพิจารณาเรื่องสิทธิควบคุมดูแลเด็กต่อไป

มาตรา ๑๖ ในการพิจารณาคำร้องขอให้ส่งตัวเด็กกลับคืนนั้น ศาลอาจสั่งให้ผู้ร้องขอส่งคำวินิจฉัยชี้ขาดของศาลหรือองค์กรอื่นที่มีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดในประเทศที่เด็กมีถิ่นที่อยู่ปกติที่แสดงว่า การพาตัวเด็กมาหรือกักตัวเด็กเป็นการละเมิดสิทธิควบคุมดูแลเด็ก มาใช้ประกอบการวินิจฉัยว่าจะส่งตัวเด็กกลับคืนหรือไม่ก็ได้

มาตรา ๑๗ การร้องขอความช่วยเหลือขอใช้สิทธิในการพบและเยี่ยมเยียนเด็ก ให้ทำตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ที่ผู้ประสานงานกลางกำหนด