เล่ม ๑๓๒ ตอนที่ ๑๘ ก
๑๓ มีนาคม ๒๕๕๘
ราชกิจจานุเบกษา
คณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ
และกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว
มาตรา๑๓ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง เรียกว่า “คณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ” เรียกโดยย่อว่า “คณะกรรมการ วลพ.” ประกอบด้วย ประธานกรรมการคนหนึ่ง และกรรมการอื่นอีกจำนวนไม่น้อยกว่าแปดคนแต่ไม่เกินสิบคน ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้ง โดยการสรรหาจากผู้ซึ่งมิใช่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ สทพ. ที่มีความรู้และประสบการณ์ด้านการคุ้มครองผู้ถูกเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมหรือส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศจำนวนสามคน และผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิทธิมนุษยชน ด้านนิติศาสตร์ ด้านสังคมศาสตร์ ด้านจิตวิทยา และด้านแรงงาน อย่างน้อยด้านละหนึ่งคน
ให้อธิบดีมีอำนาจแต่งตั้งข้าราชการในกรมเป็นเลขานุการและผู้ช่วยเลขานุการ
หลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาประธานกรรมการและกรรมการตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการ สทพ. กำหนด
มาตรา๑๔คณะกรรมการ วลพ. มีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑)วินิจฉัยปัญหาที่มีการยื่นคำร้องว่ามีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศตามมาตรา ๑๘
(๒)กำหนดมาตรการชั่วคราวก่อนมีคำวินิจฉัยเพื่อคุ้มครองหรือบรรเทาทุกข์ตามมาตรา ๑๙
(๓)ออกคำสั่งตามมาตรา ๒๐
(๔)ยื่นเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินตามมาตรา ๒๑
(๕)ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ วลพ.
มาตรา๑๕ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๖ มาตรา ๗ มาตรา ๘ มาตรา ๙ มาตรา ๑๑ และมาตรา ๑๒ มาใช้บังคับกับคณะกรรมการ วลพ. โดยอนุโลม
มาตรา๑๖ให้กรมรับผิดชอบงานธุรการและงานวิชาการของคณะกรรมการ สทพ. และคณะกรรมการ วลพ. และมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑)รับคำร้องว่า มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ พร้อมทั้งทำความเห็นเสนอต่อคณะกรรมการ สทพ. คณะกรรมการ วลพ. หรือคณะอนุกรรมการ แล้วแต่กรณี
(๒)ดำเนินการให้มีการศึกษา การวิจัย และการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันมิให้เกิดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ
(๓)ประสานงานกับบุคคล หน่วยงาน หรือองค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนเพื่อให้ความคุ้มครองและป้องกันมิให้มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศ