หน้า:พรบ ทรมานและสูญหาย ๒๕๖๕.pdf/10

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว

เล่ม ๑๓๙ ตอนที่ ๖๖ ก

๒๕ ตุลาคม ๒๕๖๕
หน้า ๕๒
ราชกิจจานุเบกษา

(๓) ผู้อำนวยการสำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง หรือนายอำเภอตามมาตรา ๒๒ หรือพนักงานฝ่ายปกครองซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการสำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง หรือนายอำเภอ

(๔) พนักงานสอบสวน หรือพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ

(๕) คณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ หรือเจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการ

(๖) บุคคลอื่นใดเพื่อประโยชน์ของผู้เสียหาย

เมื่อได้รับคำร้องตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลไต่สวนฝ่ายเดียวโดยพลัน โดยให้ศาลมีอำนาจเรียกเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือบุคคลใดมาให้ถ้อยคำหรือให้ส่งเอกสารหรือวัตถุอื่นใดประกอบการไต่สวน หรือสั่งให้เจ้าหน้าที่ของรัฐนำตัวผู้ถูกควบคุมตัวมาศาลด้วยก็ได้

มาตรา ๒๗ เพื่อประโยชน์ในการยุติการกระทำที่อ้างตามมาตรา ๒๖ และเยียวยาความเสียหายเบื้องต้น ศาลอาจมีคำสั่งดังต่อไปนี้

(๑) ให้ยุติการทรมาน หรือการกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

(๒) ให้เปลี่ยนสถานที่ควบคุมตัว

(๓) ให้ผู้ถูกควบคุมตัวได้พบญาติ ทนายความ หรือบุคคลอื่นซึ่งไว้วางใจเป็นการส่วนตัว

(๔) ให้มีการรักษาพยาบาล และการประเมินโดยแพทย์ทางนิติเวชศาสตร์ และแพทย์ทางจิตเวชศาสตร์ที่รับรองโดยแพทยสภา รวมทั้งให้มีการจัดทำบันทึกทางการแพทย์ ตลอดจนการฟื้นฟูร่างกายและจิตใจ

(๕) ให้เปิดเผยเอกสารบันทึกหรือข้อมูลอื่นใด

(๖) กำหนดมาตรการอื่นใดที่เหมาะสมเพื่อประโยชน์ในการยุติการทรมาน การกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือการกระทำให้บุคคลสูญหาย หรือเยียวยาความเสียหายเบื้องต้นให้แก่ผู้เสียหาย

กรณีที่ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า ไม่มีเหตุจำเป็นในการควบคุมตัวต่อไป ให้ศาลสั่งปล่อยตัวในระหว่างควบคุมตัวโดยพลัน

คำสั่งศาลตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นที่สุด

มาตรา ๒๘ ในกรณีที่ผู้ถูกควบคุมตัวถึงแก่ความตาย ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบแจ้งคณะกรรมการทราบเพื่อให้มีส่วนร่วมในการติดตามตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการทรมานในระหว่างควบคุมตัวโดยพลัน