หน้า:พรบ ปรับเป็นพินัย ๒๕๖๕.pdf/3

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว

เล่ม ๑๓๙ ตอนที่ ๖๖ ก

๒๕ ตุลาคม ๒๕๖๕
หน้า ๒๔
ราชกิจจานุเบกษา

ในกรณีปรากฏต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐว่าผู้กระทำความผิดทางพินัยไม่สามารถพูด หรือได้ยิน หรือสื่อความหมายได้ ให้แจ้งหนังสือหรือเอกสารในรูปแบบที่ผู้กระทำความผิดทางพินัยสามารถเข้าใจได้ หรือจะแจ้งให้ผู้กระทำความผิดทางพินัยทราบด้วยการสื่อความหมายโดยวิธีอื่นก็ได้

ในกระบวนการพิจารณาความผิดทางพินัย หากผู้ถูกกล่าวหาหรือพยานไม่สามารถพูด หรือได้ยิน หรือสื่อความหมายได้ ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ พนักงานอัยการ หรือศาล จัดหาล่ามภาษามือให้ หรือจัดให้ถาม ตอบ หรือสื่อความหมายโดยวิธีอื่นที่เห็นสมควร

มาตรา  ผู้ใดกระทำความผิดทางพินัย ต้องชำระค่าปรับเป็นพินัยตามจำนวนเงินที่เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือศาลกำหนดตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ ซึ่งต้องไม่เกินจำนวนสูงสุดที่กฎหมายซึ่งบัญญัติความผิดทางพินัยนั้นบัญญัติไว้ เว้นแต่พระราชบัญญัตินี้จะบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น

มาตรา  ให้นำบทบัญญัติในภาคบทบัญญัติทั่วไป ลักษณะ ๑ บทบัญญัติที่ใช้ แก่ความผิดทั่วไป เฉพาะหมวด ๒ การใช้กฎหมายอาญา หมวด ๔ ความรับผิดในทางอาญา หมวด ๕ การพยายามกระทำความผิด และหมวด ๖ ตัวการและผู้สนับสนุน แห่งประมวลกฎหมายอาญา มาใช้บังคับแก่การปรับเป็นพินัยตามพระราชบัญญัตินี้ด้วยโดยอนุโลม เว้นแต่พระราชบัญญัตินี้จะบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น

เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ให้เป็นไปโดยเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ นายกรัฐมนตรี โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี จะวางระเบียบปฏิบัติในการปรับเป็นพินัย รวมทั้งระยะเวลาในการดำเนินการ เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งต่อพระราชบัญญัตินี้ก็ได้ ระเบียบดังกล่าว เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้

มาตรา  ในการกำหนดค่าปรับเป็นพินัย ให้พิจารณาให้เหมาะสมกับข้อเท็จจริง ดังต่อไปนี้

(๑) ระดับความรุนแรงของผลกระทบที่เกิดขึ้นแก่ชุมชนหรือสังคมจากการกระทำความผิดทางพินัย และพฤติการณ์อื่นอันเกี่ยวกับสภาพความผิดทางพินัย

(๒) ความรู้ผิดชอบ อายุ ประวัติ ความประพฤติ สติปัญญา การศึกษาอบรม สุขภาพ ภาวะแห่งจิต นิสัย อาชีพ สิ่งแวดล้อม การกระทำความผิด และสิ่งอื่นทั้งปวงเกี่ยวกับผู้กระทำความผิดทางพินัย

(๓) ผลประโยชน์ที่ผู้กระทำความผิดทางพินัยหรือบุคคลอื่นได้รับจากการกระทำความผิดทางพินัย