หน้า:พรบ ปรับเป็นพินัย ๒๕๖๕.pdf/6

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว

เล่ม ๑๓๙ ตอนที่ ๖๖ ก

๒๕ ตุลาคม ๒๕๖๕
หน้า ๒๗
ราชกิจจานุเบกษา

มาตรา ๑๔ เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดจะมีอำนาจปรับเป็นพินัยตามกฎหมายใด ให้เป็นไปตามที่กฎหมายซึ่งบัญญัติความผิดทางพินัยนั้นบัญญัติไว้ ในกรณีที่กฎหมายซึ่งบัญญัติความผิดทางพินัยมิได้บัญญัติไว้ ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีผู้รักษาการตามกฎหมายนั้นประกาศกำหนด

ในการกำหนดเจ้าหน้าที่ของรัฐให้มีอำนาจปรับเป็นพินัยตามวรรคหนึ่ง รัฐมนตรีจะกำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐอื่นใดที่มิใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งรับผิดชอบในการปฏิบัติตามกฎหมายนั้นเป็นผู้มีอำนาจปรับเป็นพินัยมิได้ เว้นแต่เป็นกรณีตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๗ วรรคสาม และถ้าค่าปรับเป็นพินัยที่กฎหมายบัญญัติไว้มีอัตราอย่างสูงไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท จะกำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐคนเดียวเป็นผู้มีอำนาจปรับเป็นพินัยก็ได้ แต่ถ้าค่าปรับเป็นพินัยที่กฎหมายบัญญัติไว้มีอัตราอย่างสูงเกินหนึ่งหมื่นบาท ต้องกำหนดให้การปรับเป็นพินัยกระทำเป็นองค์คณะประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่น้อยกว่าสามคน

มาตรา ๑๕ การกระทำใดอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดทางพินัยหลายบท ให้ใช้กฎหมายบทที่กำหนดค่าปรับเป็นพินัยสูงสุดในการปรับผู้กระทำความผิดทางพินัย

ก่อนที่ผู้กระทำความผิดทางพินัยจะชำระค่าปรับเป็นพินัย หากความปรากฏต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐว่า การกระทำนั้นเป็นความผิดทางพินัยตามกฎหมายอื่นที่กำหนดค่าปรับเป็นพินัยสูงกว่าด้วย ให้ระงับการรับชำระค่าปรับเป็นพินัย และส่งสำนวนให้เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีอำนาจปรับเป็นพินัยสำหรับความผิดที่กฎหมายกำหนดค่าปรับเป็นพินัยสูงกว่า เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามวรรคหนึ่งต่อไป

ในกรณีที่ได้มีคำสั่งปรับเป็นพินัยและชำระค่าปรับไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนในความผิดทางพินัยบทใดบทหนึ่งแล้ว ไม่ว่าจะเป็นบทที่กำหนดค่าปรับเป็นพินัยสูงสุดหรือไม่ ให้ความผิดทางพินัยสำหรับการกระทำความผิดในบทอื่นเป็นอันยุติ

มาตรา ๑๖ การกระทำใดอันเป็นกรรมเดียวเป็นทั้งความผิดทางพินัยและความผิดอาญา ให้ดำเนินการดังต่อไปนี้

(๑) ถ้าความผิดอาญานั้นไม่อาจเปรียบเทียบได้ ให้ระงับการดำเนินการปรับเป็นพินัย และแจ้งพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีอาญาต่อไป

(๒) ในกรณีตาม (๑) ถ้าเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ปรับเป็นพินัยไปก่อนแล้ว การปรับเป็นพินัยดังกล่าวไม่เป็นการตัดอำนาจของพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการที่จะดำเนินคดีอาญา และในกรณีที่ศาลในคดีอาญามีคำพิพากษาถึงที่สุดลงโทษอาญาแก่ผู้กระทำความผิด ให้ความผิดทางพินัยเป็นอันยุติ และให้ศาลในคดีอาญาสั่งคืนค่าปรับเป็นพินัยที่ได้ชำระแล้วให้แก่ผู้กระทำความผิด ในกรณีที่