หน้า:พรบ ราชบัณฑิตฯ ๒๕๔๔.pdf/7

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว

เล่ม ๑๑๘ ตอนที่ ๑๐๔ ก

๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๔
หน้า ๗
ราชกิจจานุเบกษา

มาตรา ๒๙ สภาราชบัณฑิตมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้

(๑) วางนโยบายในการดำเนินงานด้านวิชาการตามอำนาจหน้าที่ของราชบัณฑิตยสถาน

(๒) พิจารณาให้ความเห็นชอบในการกำหนดประเภทวิชาของสำนักและการแบ่งวิชาแต่ละประเภทออกเป็นสาขาวิชาต่าง ๆ

(๓) พิจารณาให้ความเห็นชอบในการจัดตั้ง การรวม หรือการแยกสำนัก

(๔) พิจารณาให้ความเห็นชอบในการออกข้อบังคับและระเบียบเกี่ยวกับการดำเนินงานของสภาราชบัณฑิต

(๕) เลือกนายกราชบัณฑิตยสถาน อุปนายกราชบัณฑิตยสถาน รวมทั้งมีมติให้ความเห็นชอบในการเสนอแต่งตั้งราชบัณฑิตและราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์

(๖) พิจารณาให้ความเห็นชอบและอนุมัติในเรื่องที่เกี่ยวกับกิจการของสภาราชบัณฑิตตามที่นายกราชบัณฑิตยสถานเสนอ

มาตรา ๓๐ การประชุมสภาราชบัณฑิต ให้เป็นไปตามข้อบังคับสภาราชบัณฑิต

ให้มีการประชุมสภาราชบัณฑิตอย่างน้อยปีละสี่ครั้ง เพื่อปรึกษา พิจารณา และดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้

มาตรา ๓๑ ให้ราชบัณฑิตแต่ละสำนักประชุมกันเลือกราชบัณฑิตในสำนักของตนเป็นประธานสำนักคนหนึ่ง และเป็นเลขานุการสำนักคนหนึ่ง แล้วให้นายกราชบัณฑิตยสถานเสนอชื่อไปยังนายกรัฐมนตรีเพื่อแต่งตั้งโดยประกาศราชบัณฑิตยสถาน

หลักเกณฑ์และวิธีการเลือกประธานสำนักและเลขานุการสำนัก ให้เป็นไปตามข้อบังคับสภาราชบัณฑิต

มาตรา ๓๒ ประธานสำนักและเลขานุการสำนักมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสองปีและอาจได้รับเลือกใหม่อีกได้ แต่จะดำรงตำแหน่งเกินสองวาระติดต่อกันมิได้

ให้นำความในมาตรา ๒๖ วรรคสอง มาตรา ๒๗ และมาตรา ๒๘ มาใช้บังคับกับการดำรงตำแหน่งและการพ้นจากตำแหน่งของประธานสำนักและเลขานุการสำนักด้วยโดยอนุโลม

มาตรา ๓๓ การประชุมสำนัก ให้เป็นไปตามข้อบังคับสภาราชบัณฑิต

ในการประชุมสำนักแต่ละสำนัก ราชบัณฑิตและภาคีสมาชิกมีหน้าที่เข้าประชุมและมีหน้าที่เสนอเรื่องเกี่ยวกับวิชาการที่ตนค้นคว้าได้ต่อสำนัก ตามระเบียบสภาราชบัณฑิต

มาตรา ๓๔ ให้มีคณะกรรมการทางวิชาการของราชบัณฑิตยสถานประจำสาขาวิชาต่าง ๆ คณะหนึ่งหรือหลายคณะ ซึ่งแต่งตั้งโดยนายกราชบัณฑิตยสถาน เพื่อดำเนินกิจการตามอำนาจหน้าที่ของราชบัณฑิตยสถานดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๗ (๕) และ (๖)