หน้า:พระราชดำรัสฯ แก้ไขการปกครองแผ่นดิน - ๒๔๗๐.pdf/17

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว

น่าที่มหาดไทยกระลาโหมสัศดีเสียโดยมาก กรมพระคลังคงจะมีราชการน้อยไม่พอแก่ตำแหน่ง ครั้นเมื่อมีการค้าขายกับเมืองจีน แต่งสำเภาหลวงออกไปค้าขาย เปนการเกี่ยวข้องในการที่จะจำหน่ายแลเก็บพระราชทรัพย์โดยตรง การแต่งสำเภานี้จึ่งคงจะต้องตกเปนน่าที่กรมพระคลัง เมื่อกรมพระคลังเปนผู้ค้าขายกับต่างประเทศเช่นนี้ ก็คงเปนผู้ที่กว้างขวางในหมู่คนต่างประเทศ เมื่อมีคนต่างประเทศเข้ามาในบ้านเมือง จึ่งต้องมอบให้เจ้าพระยาพระคลังเปนผู้รับรอง พนักงานเจ้าท่าสำหรับรับคนต่างประเทศจึงได้ตกอยู่ในกรมพระคลัง การที่จะเก็บเงินอากรขนอนตลาดแลจะรับจ่ายเงินพระคลัง กับทั้งแต่งสำเภาแลรับคนต่างประเทศนี้ ในเวลานั้นก็คงจะไม่เปนการหนักหนาอันใด เพราะมีตำแหน่งที่จะบังคับการอยู่แต่ ๒ อย่าง คือเปนเสนาบดีว่าการคลัง แลเปนเสนาบดีว่าการต่างประเทศ ครั้นเมื่อยกหัวเมืองขึ้นกรมพระกระลาโหมไปขึ้นกรมท่า ต้องเติมตำแหน่งเช่นว่ามาแล้วนั้นขึ้นอีก คือเจ้าพระยาพระคลังต้องเปนเสนาบดีว่าการบ้านเมือง เสนาบดีว่าการยุติธรรม เสนาบดีว่าการทหาร เสนาบดีว่าการคลัง เสนาบดีว่าการกรมท่า มีการล้นตำแหน่งขึ้นไปมากกว่าตำแหน่งสมุหนายกสมุหกระลาโหมอีกดังนี้ จึงต้องละวางการคลังเสีย ส่วนการเก็บเงินจ่ายเงินตกอยู่แก่พระยาราชภักดี ส่วนการแต่งสำเภาตกอยู่แก่พระยาศรีพิพัฒ ซึ่งเปนที่ ๒ สำหรับน่าที่นั้น ๆ ยังคงอยู่แต่บาญชีเบี้ยหวัด เจ้าพระยาพระคลังยังต้องตรวจตรา จึงได้มีตำแหน่งที่ขุนธนรัตน์อยู่ในกรมท่า แต่ขันเมื่อจืดลงมาภายหลัง เจ้าพระยาพระคลังก็ไม่รู้บาญชีเบี้ยหวัด ขุนธนรัตน์ก็เหมือนขุนนางในกรม