หน้า:พระราชดำรัสฯ แก้ไขการปกครองแผ่นดิน - ๒๔๗๐.pdf/37

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๒๖

หนึ่งในกรมนั้น ครั้นเมื่อภายหลังความต่างประเทศมาก กระทรวงคลังนั้นก็ขาดไป เพิ่มเติมกระทรวงต่างประเทศขึ้นอีกดังจะว่าต่อไปภายน่า แลกรมท่านี้มีเมื่อมีเมืองขึ้นก็ได้ว่าความอุทธรณ์อย่างใหม่อีกกระทรวงหนึ่งด้วย

๑๐ กระทรวงกรมนา ว่าความนาแลเครื่องทำนาแลเข้าในนาไม่ว่าความแพ่งอาญานครบาลอย่างหนึ่งอย่างใด ซึ่งยกมารวมอยู่ในกรมนาทั้งสิ้นนี้ ก็เพื่อจะให้กรมนามีอำนาจที่จะดับความทุกข์ร้อนของชาวนาไม่ให้ป่วยการทำนา เปนการบำรุงไร่นาเหมือนกับที่ให้กรมวังชำระความสมใน เพื่อจะให้เปนการเร็วการสดวกแก่ผู้ที่รับราชการอยู่ใกล้ชิดพระองค์พระเจ้าแผ่นดิน แต่ไม่เปนผลอันใดดีขึ้นได้จริงดังความประสงค์ ก็คงเปนความสามัญอยู่อย่างนั้นเอง แลยังมีข้อที่เถียงกระทรวงกันอยู่กับศาลรับสั่งชำระความผู้ร้ายลักโคกระบือ ซึ่งจะได้ออกชื่อไปภายน่านั้นด้วย

๑๑ ศาลคลังมหาสมบัติ ว่าความบันดาที่เกี่ยวข้องด้วยพระราชทรัพย์ทั่วไป แต่ศาลนี้ภายหลังมา ก็คงได้ความว่าฉเพาะแต่ภาษีอากรซึ่งขึ้นอยู่ในกรมพระคลังมหาสมบัติ ซึ่งอยู่ในอำนาจพระยาราชภักดีมิได้ทั่วไปในภาษีอากรซึ่งขึ้นในกรมอื่นๆส่วนกรมอื่นๆซึ่งได้เปนเจ้าพนักงานคลังบังคับภาษีอากรก็มีศาลกระทรวงคลังขึ้นในกรมนั้นอีกกรมละศาลๆทุกกรม มีวิเสศหน่อยหนึ่งถ้ามีความเรื่องรับเรื่องจ่ายเงินหลวง ศาลกระทรวงคลังมีอำนาจที่จะชำระได้ แต่คงได้ชำระแต่ความเล็กน้อย ถ้าเปนความใหญ่ก็มักจะมีตระลาการเปนศาลรับสั่ง