หน้า:พระราชดำรัสฯ แก้ไขการปกครองแผ่นดิน - ๒๔๗๐.pdf/72

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๖๑

อนึ่งราชประเพณี ซึ่งมีแบบอย่างมาแต่ก่อน แล้วเปลี่ยนแปลงลงมาโดยลําดับลําดับ แต่ไม่ได้มีพระราชบัญญัติฤาพระราชกำหนดกฎหมายอันใด ซึ่งจะเปนของไหม่ล้างของเก่า ให้คงชี้แบบแผนได้ว่ามาแต่พระราชกำหนดกฎหมายบทนั้นแห่งนั้น ทําให้เปนสิ่งที่สงไสยคิดไปได้ต่าง ๆ เปนทางที่จะให้เกิดการไม่เรียบร้อยขึ้นในบ้านเมือง ควรจะจัดลงให้เปนแบบอย่างเสียให้ชัดเจน ดังเช่นตำแหน่งผู้ซึ่งจะสืบบรมราชสันตติวงษ์ ในกฎมณเฑียรบาลซึ่งเปนกฎหมายเก่า ได้ออกชื่อปรากฎว่าเปนสมเด็จหน่อพุทธเจ้า ครั้นภายหลังมาชื่อและตำแหน่งนั้นก็หายไป กลายเปนพระมหาอุปราชซึ่งมีมาในกฎหมายตําแหน่งนาพลเรือน กฎหมายเก่านั้นก็ไม่เลิกถอนอันใด จะว่าพระมหาอุปราชเปนผู้รับราชสมบัติก็ไม่มีปรากฎในกฎหมายแห่งหนึ่งแห่งใด แต่สังเกตได้ตามตัวผู้ซึ่งได้เปนพระมหาอุปราชนั้น ย่อมเปนผู้เปนพระราชโอรสองค์ใหญ่ซึ่งควรจะได้รับราชสมบัตินั้นโดยมาก จึงเข้าใจกันว่าเปนผู้ที่จะได้รับราชสมบัติ แต่เพราะไม่มีกฎหมายอันใดซึ่งชัดเจนว่าตำแหน่งนั้นเปนอย่างไร ภายหลังมาก็ตั้งกันเลอะเทอะไป จนผู้ซึ่งไม่ควรจะได้รับราชสมบัติได้ตั้งอยู่ในตําแหน่งนั้น ก็เปนเหตุให้เกิดความร้าวราน ต่างคนต่างถือต่างคิดไปต่าง ๆ กัน เหมือนหนึ่งเปิดช่องไว้ว่าผู้ใดมีอำนาจก็ให้แย่งชิงเอาเถิด แต่กรุงรัตนโกสินทร์นี้เปนยามเคราะห์ดี จึงยังไม่มีเหตุการจลาจลในบ้านเมือง ด้วยการอันนี้เกิดขึ้นเหมือนอย่างเช่นครั้งกรุงเก่า แลตําแหน่งอันนี้ได้กําหนดลงเปนชัดเจนชั้นหนึ่ง ในเมื่อตั้งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเมื่อวัน ค่ำ