หน้า:พระราชบัญญัติยกเลิกวิธีพิจารณาโจรผู้ร้ายตามจารีตนครบาล (ร.ศ. ๑๑๕ พ.ศ. ๒๔๓๙).pdf/2

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๕๗๔
เล่ม ๑๓
ราชกิจจานุเบกษา


ให้ประกาศให้ทราบทั่วกันว่า วิธีพิจารณาโจรผู้ร้ายตามจารีตนครบาลซึ่งมีอยู่ในพระราชกำหนดกฎหมายตั้งมาแต่ปางก่อน คือ ในลักษณโจร เปนต้น แม้ผู้ต้องหาว่าเปนโจรผู้ร้ายมีข้อพิรุทธ์ฤๅมีผู้ร้ายให้การทอดซัดหลายปาก ถ้าแลผู้ต้องหาไม่รับ ผู้พิพากษาอาจจะใช้อาญาด้วยเครื่องเฆี่ยนเปนต้นกระทำแก่ผู้ต้องหาแลต้นซัดตามกฎหมายในกระบวนพิจารณากว่าจะได้ความเปนสัจฤๅมิเปนสัจประการใดดังนี้

ทรงพระราชดำริห์เห็นว่า การที่ชำระฟอกซักผู้ต้องหาว่าเปนโจรผู้ร้ายด้วยใช้อาญาตามจารีตนครบาลนั้น แม้ในพระราชกำหนดกฎหมายมีข้อความจำกัดไว้เปนหลายประการเพื่อจะให้กระทำแต่เมื่อมีหลักฐานเปนสำคัญแล้วก็ดี ยังเปนเหตุให้เกิดการเสื่อมเสียในกระบวนพิจารณาได้มาก เพราะเหตุที่ผู้พิพากษาอาจจะพลาดพลั้งหลงลงอาญาแก่ผู้ไม่มีผิดให้เกิดบาปกรรมเปนต้น แลที่สุดแม้ถ้อยคำซึ่งผู้ต้องอาญาจะให้การประการใดที่จะฟังเอาเปนหลักฐานถ่องแท้ในทางยุติธรรมก็ฟังไม่ได้ ด้วยถ้อยคำเช่นนั้นอาจจะเปนคำสัจจริงฤๅคำเท็จซึ่งจำต้องกล่าวเพื่อจะให้พ้นทุกขเวทนาก็เปนได้ทั้งสองสถาน

ทรงพระราชดำริห์เห็นว่า หลักฐานในทางพิจารณาอรรถคดีโดยยุติธรรมก็ย่อมอาศรัยสักขีพยานเปนใหญ่ยิ่งกว่าสิ่งอื่น แลการพิจารณาความโจรผู้ร้ายแลคดีมีโทษหลวงทั้งปวงทุกวันนี้ ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้แก้ไขลักษณกระบวนพิจารณาแลลักษณพยานให้ดีขึ้น อาจจะชำระถ้อยความเอาความเท็จจริงได้รวดเร็วสดวกแก่แต่ก่อน ไม่จำเปนจะต้องใช้พิจารณาโดยจารีตนครบาลอันมีทางเสื่อมเสียยุติธรรมดังได้กล่าวมาแล้วนั้นอีกต่อไป

เพราะฉนั้น จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราเปนพระราชบัญญัติสืบไปว่า

มาตรา  ให้ยกเลิกข้อความในกฎหมายซึ่งมีรายบทไว้ในตรางนี้ คือ