หน้า:พงศาวดาร (หัตถเลขา) - ๒๔๕๕ (๑).pdf/17

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๑๕

มา ได้มีผู้หนึ่งผู้ใดเอาหนังสือพระราชพงษาวดาร ฉบับจุลศักราช ๑๐๔๒ มาขยายความแต่งเปนฉบับพิศดาร ดังตัวอย่างที่เห็นในฉบับจุลศักราช ๑๑๓๖ แลหนังสือพระราชพงษาวดาร ฉบับจุลศักราช ๑๑๓๖ นี้เปนต้นของฉบับอื่น ๆ ที่ได้แก้ไขเพิ่มเติมต่อมาจนถึงฉบับพระราชหัดถเลขาเปนที่สุด ความที่ว่าข้อนี้ไม่มีที่สงไสย เว้นไว้แต่จะมีหนังสือพระราชพงษาวดารฉบับอื่นที่แก่ขึ้นไปกว่าฉบับจุลศักราช ๑๑๓๖ ที่ยังไม่พบมาปรากฎขึ้นอิก เมื่อลงเนื้อเห็นดังนี้ ก็แลเห็นข้อน่าวินิจฉัยเกิดขึ้นอิกข้อ ๑ ว่า หนังสือพระราชพงษาวดารพิศดาร คือ ฉบับจุลศักราช ๑๑๓๖ นั้นใครแต่งแลแต่งเมื่อไร คำถามอันนี้ดูเหมือจะถามที่ตอบไม่ได้ แต่ที่จริงหลักฐานที่จะคิดค้นคำตอบมีอยู่หลายอย่าง ข้าพเจ้าจะลองตอบตามอัตโนมัติ ถ้าท่านผู้ใดไม่เห็นชอบด้วย ก็ขออภัยโทษ.

ความเห็นของข้าพเจ้าในข้อคำถามว่า ใครแต่งหนังสือพระราชพงษาวดารฉบับพิศดารนั้น ข้าพเจ้าตอบว่า หนังสือพระราชพงษาวดารทุก ๆ ฉบับเปนของที่พระเจ้าแผ่นดินรับสั่งให้แต่ง ยกพยานเปนตัวอย่างตั้งแต่ฉบับหลวงประเสริฐเปนต้นลงมาจนทุก ๆ ฉบับในกรุงรัตนโกสินทร ไม่มีผู้อื่นนอกจากพระเจ้าแผ่นดินมีรับสั่งให้แต่งหรือให้ชำระ จะลืมเสียไม่ได้ว่า ในครั้งโน้น การพิมพ์หนังสือยังไม่มี หนังสือเช่นพระราชพงษาวดารนอกจากในหอหลวงจะมีที่อื่นกี่ฉบับ ถึงผู้อื่นจะมี ผู้นั้นจะหาหลักฐานเครื่องประกอบการแต่งพระราชพงษาวดารได้อย่างไร.

คำถามข้อ ๒ ซึ่งว่า หนังสือพระราชพงษาวดารฉบับพิศดารอย่างฉบับจุลศักราช ๑๑๓๖ นี้แต่งขึ้นเมื่อไร คำตอบจะต้องใช้คิดคาด